posttoday

ลงทุน2แสนล. บูมเศรษฐกิจใต้

23 มกราคม 2562

ครม.อนุมัติเดินหน้า ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 4 ปี ทุ่มแสนล้านพัฒนา 4 ด้าน ดันจีดีพีโต 5% ต่อเนื่อง 10 ปี

ครม.อนุมัติเดินหน้า ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 4 ปี ทุ่มแสนล้านพัฒนา 4 ด้าน ดันจีดีพีโต 5% ต่อเนื่อง 10 ปี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 ได้เห็นชอบการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดรูปแบบโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พร้อมเห็นชอบกรอบโครงการและงบประมาณระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2562-2565 ที่จะดำเนินการในพื้นที่รวม 116 โครงการ วงเงิน 1.068 แสนล้านบาท และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทยอยดำเนินการเสนอของบประมาณต่อไป

อย่างไรก็ตาม ครม.ได้อนุมัติให้ ดำเนินโครงการโดยทันที (ควิกวิน)จำนวน 8 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 2,677.31 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีงบประมาณแล้ว 3 โครงการ วงเงินรวม 2,228.62 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการตลาดของท่าเรือระนอง รองรับกลุ่ม BIMSTEC วงเงิน 70 ล้านบาท โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานระนอง 158.62 ล้านบาท และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดย เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์ เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub

สำหรับอีก 5 โครงการ ครม.ได้ อนุมัติงบกลางปี 2562 รวม 448.69 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่ง ท่องเที่ยวบนเกาะพยาม วงเงิน 132.8 ล้านบาท โครงการป่าชายเลนระนอง สู่มรดกโลก วงเงิน 85.5 ล้านบาท โครงการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร วงเงิน 194.6 ล้านบาท โครงการเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งด้าน การบริการดูแลผู้สูงอายุสู่ประเทศไทย 4.0 เทศบาลเมืองชุมพร วงเงิน 12.64 ล้านบาท และโครงการศึกษาการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย เชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ วงเงิน 20 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวว่า สศช.ได้ประเมิน SEC จะให้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีแรกของการพัฒนาโครงการ (2562-2572) จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน/ปี การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมจะยกระดับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม