posttoday

เกษตรกรชะลอปลูกปาล์มสู้ราคาตก

21 มกราคม 2562

ผลผลิตราคาตกต่ำ เกษตรกรสวนปาล์มภาคใต้ชะลอปลูก-โค่นทิ้ง หวั่นสถานการณ์ราคาตกต่ำต่อเนื่อง

ผลผลิตราคาตกต่ำ เกษตรกรสวนปาล์มภาคใต้ชะลอปลูก-โค่นทิ้ง หวั่นสถานการณ์ราคาตกต่ำต่อเนื่อง

เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ชะลอการปลูกปาล์มเพิ่ม เนื่องจากสถานการณ์ราคาผลผลิตช่วงปี 2561 ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องจากกิโลกรัมละ 3.5 บาท จนมาถึงปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.6-2.7 บาท

เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายหนึ่งในพื้นที่ อ.ป่าบอก จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ต้นทุนการปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาทต่อผลผลิตปัจจุบัน โดยเป็นค่าปุ๋ยประมาณ 1,600 บาท ค่าแทงหรือค่าเก็บผลผลิต 1,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกประมาณ 1,000 บาท แต่ราคาผลผลิตขายได้เพียงตันละ 2,600-2,700 บาท เท่ากับขาดทุนตันละ 1,000 บาท

“ทำให้เจ้าของสวนปาล์มหลายรายตัดสินใจไม่จ้างคนแทงปาล์ม แต่จะแทงเองเพื่อประหยัดเงินค่าแทงตันละ 1,000 บาท เพราะลดต้นทุนอย่างอื่นไม่ได้ หากไม่ใส่ปุ๋ยผลผลิตก็จะได้น้อยลง และขณะนี้ได้มีการชะลอปลูกปาล์มน้ำมันบ้างแล้ว” ชาวสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ จ.พัทลุง กล่าว

ด้าน นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) กล่าวว่า สำหรับปาล์มน้ำมันประสบภาวะขาดทุนมาตลอดทั้งปี 2561 และทิศทางราคาก็น่าหวั่นวิตกต่อไปอีก เพราะมีนโยบายปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 แสนไร่ เฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช มีการปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 1 ล้านไร่แล้ว มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งในอีก 1-2 ปีข้างหน้าสถานการณ์ราคาจะน่าหวั่นวิตกมากกว่านี้

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ปลูกปาล์มน้ำมันกันเป็นจำนวนมาก โดยรุกเข้าไปยังพื้นที่ทำนาข้าวบางพื้นที่ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันนาข้าวถดถอยลงไปประมาณ 50% แต่ปรากฏว่าขณะนี้เริ่มชะลอการปลูกปาล์มน้ำมันและเริ่มมีการโค่นปาล์มน้ำมันทิ้งกันแล้ว

นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี หรือสุราษฎร์ธานีโมเดล หลังจากประกาศใช้มาตรการให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันโรง (A) ทุกโรงรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรหรือลานเทที่คุณภาพไม่ต่ำกว่า 18% ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-31 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมาเป็นเวลา 2 เดือน โดยผลปาล์มที่คุณภาพต่ำจะถูกกักเก็บไว้แปรรูปเป็นปุ๋ยหมักคืนให้เกษตรกรไปใช้ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 270 ล้านบาท

“สุราษฎร์ธานีโมเดลประสบผลสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมันได้สูงกว่า 18% และสามารถแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำอย่างยั่งยืน ซึ่งในช่วง 2 เดือนได้ช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มกว่า 270 ล้านบาท คาดว่าตลอดทั้งปีจะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายปาล์มน้ำมันคุณภาพในจังหวัดภายใต้โครงการสุราษฎร์ธานีโมเดล ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท” ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าว