posttoday

กยท.เปิดยุทธศาสตร์ยางพารา20ปี ดันรายได้ชาวสวนเป็นไร่ละ19,800บาท

14 มกราคม 2562

การยางแห่งประเทศไทยเปิด "ยุทธศาสตร์ยางพารา20ปี" ตั้งเป้าดันรายได้ชาวสวนยางแตะไร่ละ 19,800 บาท เพิ่มการส่งออก-ใช้ยางภายในประเทศ

การยางแห่งประเทศไทยเปิด "ยุทธศาสตร์ยางพารา20ปี" ตั้งเป้าดันรายได้ชาวสวนยางแตะไร่ละ 19,800 บาท เพิ่มการส่งออก-ใช้ยางภายในประเทศ

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้บรรลุผลสำเร็จ 5 เรื่อง คือ

1. ลดพื้นที่ปลูกยางลง 23.3 ล้านไร่ ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่

2. เพิ่มปริมาณผลผลิตยาง จาก 224 กก./ไร่/ปี ให้เป็น 360 กก./ไร่/ปี

3. เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ จาก 13.6% ให้เป็น 35%

4. เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จาก 250,000 ล้านบาท/ปี ให้เป็น 800,000 ล้านบาท/ปี

5. เพิ่มรายได้ในการทำสวนยาง จาก 11,984 บาท/ไร่/ปี ให้เป็น 19,800 บาท/ไร่/ปี

นายเยี่ยม กล่าวว่า การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ยุทธศาสตร์นี้ได้วางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-5 ปีแรก จะมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน, อุทยานแห่งชาติ, การโค่นต้นยางเก่า และปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี, การปรับปรุงแก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา การผลักดันการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ, การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และการจัด Road Show ในประเทศเป้าหมาย เป็นต้น

ส่วนปีที่ 6-10 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา จะเน้นไปที่การปรับปรุง พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐาน มอก., การนำผลวิจัยไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ฐ การจัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้ายางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย, การจัดทำตราสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา, การออกมาตรการด้านการเงิน เพื่อจูงใจผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มขึ้น และการพัฒนาการซื้อขายยางพาราในรูปของ กองทุน ETF ยางพารา และการพัฒนา กงอทุนรักษาเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น

ขณะที่ปีที่ 11-20 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับทดแทนแรงงานคนในสวนยางในระยะยาว, การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา และการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย เป็นต้น

สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว ขึ้นตอนต่อไป คือ การนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี