posttoday

รัฐเดินหน้าเน็ตทั่วไทย

12 มกราคม 2562

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้าน ทั้งสิ้น 74,987 หมู่บ้าน มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้วประมาณ 76% ของหมู่บ้านทั้งหมด อีก 24% ที่ยังเหลืออยู่ รัฐบาลประกาศว่าจะเร่งติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

โดย...ปิยนุช  ผิวเหลือง

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้าน ทั้งสิ้น 74,987 หมู่บ้าน โดยมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้วประมาณ 76% ของหมู่บ้านทั้งหมด จากการลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล ซึ่งอีก 24% ที่ยังเหลืออยู่ รัฐบาลประกาศว่าจะเร่งติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้ทุกพื้นที่ของไทยมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทั้งหมด

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในจำนวนหมู่บ้าน 74,987 แห่ง เอกชนได้เข้าไปลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแล้ว 41% ของพื้นที่คิดเป็นจำนวน 30,635 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

ขณะที่การติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอีก 59% รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายคิดเป็นจำนวน 44,352 หมู่บ้าน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ จำนวน 2.47 หมื่นหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้ดำเนินการ และติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับอีก 2 ส่วนสำนักงาน กสทช.เป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซนซี) จำนวน 15,723 หมู่บ้าน และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ส่วนอีก 9 หมู่บ้านเมื่อสำนักงาน กสทช.ลงพื้นที่สำรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ตแล้วจึงไม่ได้เข้าไปดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ตามกำหนดเดิมต้องติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2561 นี้ แต่ด้วยติดปัญหาความล่าช้าในการติดตั้งของ บริษัท ทีโอที ทำให้ต้องยืดระยะเวลาออกไป โดยสำนักงาน กสทช.คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2562

รัฐเดินหน้าเน็ตทั่วไทย

ด้านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์ เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซนซี) จำนวน 15,723 หมู่บ้าน คาดการณ์ว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2562 เช่นกัน ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กสทช.ได้ประกาศผลผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) จำนวน 7 กลุ่ม จากทั้งหมด 8 กลุ่ม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยจะลงนามสัญญาได้ในเดือน ม.ค. 2562

การลงนามทั้งหมดมี 8 สัญญา แบ่งเป็น 1.พื้นที่ภาคเหนือ 1 จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน จำนวน 2,289 หมู่บ้าน วงเงิน 2,356 ล้านบาท 2.พื้นที่ภาคเหนือ 2 จ.กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี จำนวน 1,851 หมู่บ้าน วงเงิน 2,325 ล้านบาท 3.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จ.นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี จำนวน 1,950 หมู่บ้าน วงเงิน 2,741 ล้านบาท

4.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จำนวน 2,124 หมู่บ้าน วงเงิน 2,297 ล้านบาท 5.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวน 2,099 หมู่บ้าน วงเงิน 2,650 ล้านบาท 6.พื้นที่ภาคกลาง 1 จ.กาญจนบุรี ชัยนาท ชุมพร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี และอ่างทอง จำนวน 1,921 หมู่บ้าน วงเงิน 2,296 ล้านบาท

7.พื้นที่ภาคกลาง 2 จ.จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ลพบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว และสระบุรี จำนวน 1,917 หมู่บ้าน วงเงิน 2,521 ล้านบาท และ 8.พื้นที่ภาคใต้  จ.กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา สงขลา และสตูล จำนวน 1,581 หมู่บ้าน วงเงิน 2,485 ล้านบาท

ดังนั้น หากเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลวางไว้ ประเทศไทยต้องมีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในปีนี้ ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ดี ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาล มีวัตถุประสงค์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของเมืองและชนบท

รัฐเดินหน้าเน็ตทั่วไทย

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต การสร้างความรู้จากอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ จริง ส่งผลให้ภายหลังจากการติดตั้ง โครงข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐเมื่อปลายปี 2560 ในปี 2561 กระทรวงดีอี เดินหน้าสร้างการรับผู้การใช้ประโยชน์ จากเน็ตประชารัฐ ซึ่งตลอดปี 2561 สามารถสร้างแกนนำระดับชุมชน ได้ 1 ล้านราย ซึ่งกระทรวงดีอี หมายมั่นปั้นมือ ให้แกนนำเหล่านี้ไปถ่ายทอดความรู้ต่อคนในชุมชน โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ ผ่านการทำอี-คอมเมิร์ซ

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ปี 2561 กระทรวงดีอีได้ฝึกอบรมแกนนำระดับชุมชน 1 ล้านราย โดยคาดว่าบุคลากรแกนนำจะขยายผลถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ส่งผลให้ในปี 2562 จะมีบุคลากรแกนนำเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศได้มากกว่านั้น ไม่ว่า จะเป็นการเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าของผู้ใช้งานในพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าความต้องการของประชาชนแท้จริงแล้วคือความรู้ด้านใด เพื่อนำไปพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านได้อย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งแน่นอนว่าหากสามารถให้ในสิ่งที่ผู้รับต้องการได้ เขาจะพร้อมเปิดรับ และปรับเปลี่ยนโดยที่รัฐไม่ต้องยัดเยียดแน่นอน