posttoday

ไฟเขียวประกันข้าว30ล้านไร่ยืดระบายสต๊อกรัฐอีก9เดือน

28 ธันวาคม 2561

นบข.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าว 30 ล้านไร่ วงเงิน 1,700 ล้าน พร้อมยืดระบายข้าวอีก 9 เดือน หั่นส่งออกข้าวปี 2562 เหลือ 10 ล้านตัน

นบข.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าว 30 ล้านไร่ วงเงิน 1,700 ล้าน  พร้อมยืดระบายข้าวอีก 9 เดือน หั่นส่งออกข้าวปี 2562 เหลือ 10 ล้านตัน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 จำนวน 30 ล้านไร่ วงเงิน 1,740.6 ล้านไร่ คุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า

ทั้งนี้ รวมถึงภัยศัตรูพืชหรือโรค อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 85 บาท/ไร่ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยเกษตรกรจ่าย 34 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 51 บาท/ไร่ (พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์)  สำหรับงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการฯ ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำบวก 1 ในปีงบประมาณถัดไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบขยายระยะเวลาการระบายข้าวตามนโยบายของรัฐบาลจำนวน 6 โครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551-2557 เนื่องจากมีปริมาณข้าวสารที่รับจำนำคงเหลือรอการระบายและจ่ายออกจากคลังสินค้าจำนวน 1.904 ล้านตัน โดยให้ขยายเวลาจากสิ้นสุดระยะเวลาเดือน ธ.ค. 2561 เป็นสิ้นสุดระยะเวลาเดือน ก.ย. 2562

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า ที่ประชุม นบข.รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทยประจำปี 2561/2562 โดยปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปี 2561 ณ ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาส่งออกข้าวได้กว่า 10.2 ล้านตัน คาดเดือน ธ.ค.จะส่งออกข้าวเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 9 แสนตัน ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2561 อยู่ที่ 11 ล้านตันตามที่คาดการณ์ไว้

สำหรับปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวจะลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ 10 ล้านตัน เนื่องจากตลาดการส่งออกข้าวมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะตลาดส่งออกข้าวของอินเดียที่ได้เปรียบจากการที่รัฐบาลอินเดียมีการอุดหนุนการส่งออกในสัดส่วน 5% ของราคาส่งออก ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดียมีการอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมากว่า 10-15% สวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาข้าวอินเดียถูกกว่าราคาส่งออกข้าวของประเทศไทย

นอกจากนี้ ตลาดส่งออกข้าวในปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอการนำข้าวของประเทศผู้นำเข้าข้าวที่มีการนำเข้าข้าวจำนวนมากในปี 2561 เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน โดยผู้ประกอบการ ส่งออกข้าวกำลังหารือกันถึงการเพิ่มกลยุทธ์ การส่งออกโดยส่งออกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการปลูกในประเทศไทย โดยจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการศึกษาความต้องการของตลาดต่างๆรวมทั้งออกไปทำตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อรักษาปริมาณการส่งออกข้าวและเป็นการเปิดตลาดข้าวในต่างประเทศเพิ่มขึ้น