posttoday

ครม.เร่งอัดฉีดสินเชื่อเอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำ

19 ธันวาคม 2561

ครม.ไฟเขียวปรับปรุงโครงการสินเชื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สู่ยุค 4.0 เปิดช่องค้าส่งค้าปลีกเข้าร่วมขยายเวลาต่ออีก 1 ปี

ครม.ไฟเขียวปรับปรุงโครงการสินเชื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สู่ยุค 4.0 เปิดช่องค้าส่งค้าปลีกเข้าร่วมขยายเวลาต่ออีก 1 ปี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เรื่องมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 มาตรการด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการมาได้ 1 ปี และจะสิ้นสุด มาตรการในวันที่ 18 ธ.ค. 2561 นี้ และยังเหลืองบประมาณ 55,490 ล้านบาท โดยการทบทวนมติ ครม.ครั้งนี้จะขยายระยะเวลาออกไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 18 ธ.ค. 2562

ทั้งนี้ ประกอบไปด้วย 2 มาตรการย่อย คือ โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ที่ในโครงการเดิมวงเงินสินเชื่อ 5  หมื่นล้านบาท แต่ 1 ปีที่ผ่านมามีการ ให้สินเชื่อไป 7,890 ราย วงเงิน 12,864 ล้านบาท เหลือวงเงิน 37,136 ล้านบาท ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงิน 2 หมื่น ล้านบาท มีการให้สินเชื่อไป 347 ราย วงเงิน 1,646 ล้านบาท เหลือวงเงิน 18,354 ล้านบาท ส่งผลให้เหลือวงเงินรวม 55,490 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่าวงเงินโครงการคงเหลืออยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการบางประการ ขณะที่สินเชื่อในวงเงิน 15 ล้านบาท/ราย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟส่วนใหญ่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนนั้นขยายประเภทกิจการ จากเดิมที่มีธุรกิจเกษตรกรแปรรูป ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการ ท่องเที่ยว ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ใหม่หรือมีนวัตกรรมหรือธุรกิจผลิต หรือ บริการอื่นๆ ให้เพิ่มกิจการค้าส่งค้าปลีกเข้าไปด้วย และปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจาก 3% เป็นกรณีดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับบุคคลธรรมดา ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยลูกรายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลบ 1.875 ต่อปี หรือ 5% ปีที่ 4-7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ส่วนกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคลปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลบ 3.875 ต่อปี หรือ 3% ต่อปี และปีที่ 4-7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ขยายวงเงินจาก 15 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ ธพว. วงเงินรวม  2.1 หมื่นล้านบาท โดย ธพว.ทยอยออกหุ้นกู้ในวงเงินดังกล่าวหลายประเภทอายุ แต่อายุสูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้จะนำมากระจายความเสี่ยงของฐานเงินฝากของธนาคารที่ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น ยาวที่สุดไม่เกิน 36 เดือน และเงินที่ระดมจากการออกหุ้นกู้ ส่วนใหญ่ก็ใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล