posttoday

ทีดีอาร์ไอค้านแจกเงินคนจน

15 ธันวาคม 2561

นักวิชาการเตือนรัฐบาลออกมาตรการหาเสียง ชี้บางนโยบาย ไม่ได้ตกกับผู้มีรายได้น้อยโดยตรง

นักวิชาการเตือนรัฐบาลออกมาตรการหาเสียง ชี้บางนโยบาย ไม่ได้ตกกับผู้มีรายได้น้อยโดยตรง

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาเรื่อง สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยทางการเงิน ว่า นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้เงินช่วยเหลือคนรายได้น้อยปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าสุด วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนถือเป็นนโยบายหาเสียง เพราะเป็นการดำเนินการครั้งเดียวก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยถือว่าเป็นการบรรเทาผลกระทบ ด้านความยากจนที่ตรงจุด เมื่อเทียบกับมาตรการอื่นๆ เพราะประชาชนจะได้นำเงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แท้จริง

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การแจกสวัสดิการประชาชนเพื่อแก้จนของรัฐบาลนี้ เป็นนโยบายที่ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ได้จำกัดแค่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบถึงแรงจูงใจและภาระการคลัง ทำให้คนมีภาระหนี้เกินตัว อีกทั้งการดำเนินนโยบายยังขาดกลไกการติดตามระยะยาว ไม่มีการประเมินความคุ้มค่าอย่างเป็นกลาง รัฐบาลควรหาองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเข้ามาประเมินความ คุ้มค่าของการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด

"มาตรการช็อปช่วยชาติที่รัฐบาลออกมา เป็นมาตรการที่ไม่ได้ช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยอย่างเดียว แต่คนที่มีรายได้ สูงจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะได้ลดหย่อนภาษีให้เสียได้น้อยลง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช็อปช่วยชาติที่รัฐบาลออกมา" นายอธิภัทร กล่าว

ด้าน นายภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้มีความสมดุล เพราะหากรัฐบาลเน้นในเรื่องของสวัสดิการประชาชน จะส่งผลกระทบต่องบด้านอื่นๆ อย่างเช่น งบประมาณ การลงทุน จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

ภาพประกอบข่าว