posttoday

รฟท.ยื้อเคาะไฮสปีด-นักวิเคราะห์เชื่อซีพีชนะ

12 ธันวาคม 2561

ขอ7วันดูบรรทัดสุดท้าย บีทีเอส เสนอราคาดีกว่า แต่นักวิเคราะห์เชื่อซีพีชนะ

รฟท.อุบผลประมูล ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2 แสนล้าน รอ 7 วันประกาศ วงในระบุบีทีเอสเสนอราคาดีกว่าคู่แข่ง

นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุน 2.15 แสนล้านบาทนั้น วันที่ 11 ธ.ค. คณะกรรมการ ได้เปิดซองที่ 3 ด้านราคา ซึ่งเอกชนคู่แข่งขัน ได้แก่ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร และกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งการเปิดซองผ่านไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีการร้องเรียน

“ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดผลประมูล เนื่องจากต้องนำรายละเอียดตัวเลขที่ทั้งสองเจ้าได้เสนอมากลับไปทบทวนก่อนว่าตัวเลขบรรทัดสุดท้ายจะเป็นอย่างไร คาดว่าจะประกาศผลที่แน่ชัดภายใน 7 วัน ก่อนเจรจากับผู้ชนะโครงการให้จบภายในเดือนนี้ เพื่อเสนอผลการคัดเลือกเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2562 ก่อนลงนามสัญญาตามเป้าหมายช่วงปลายเดือน” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่จะตัดสินผลประมูลนั้นจะอยู่ที่เงื่อนไขการพิจารณา 1.การเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด โดยห้ามเกิน 1.2 แสนล้านบาท 2.การเสนอผลตอบแทนตลอดโครงการให้รัฐบาลมากที่สุด โดยจะดูที่ตัวเลขบรรทัดสุดท้าย (Net Value) ดังนั้นหากฝ่ายไหนเสนอตัวเลขดังกล่าวได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะโครงการไป ทั้งนี้ รฟท.ได้เริ่มขั้นตอนการร่างสัญญาโครงการควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้สามารถเจรจาได้ทันทีเมื่อได้คัดเลือกตัวเอกชนและเพื่อความรวดเร็วของโครงการ

แหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยว่า การเปิดซองราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในครั้งนี้ บริษัทที่เสนอราคาดีที่สุด ได้แก่ กิจการร่วมค้า บีเอส อาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งหนึ่งในฝ่ายผู้บริหารบริษัทเอกชนดังกล่าวก็ได้แสดงความมั่นใจ พร้อมกล่าวด้วยว่าผลการประมูลครั้งนี้จะมีแต่ข่าวดีไม่มีข่าวร้าย อย่างไรก็ตามยังคงต้องให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการใช้เวลาพิจารณารายละเอียดซองที่ 3 อีกราว 7 วัน เพื่อดูว่าตัวเลขสุดท้ายที่ทั้งสองเจ้าเสนอมาเป็นไปตามนั้นหรือไม่

ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่าในการเปิดซองราคาซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 3 ของการประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ทั้งสองฝ่าย คือ ทางกลุ่ม BSR และ CP consortiums ที่ผ่านการประเมินทางเทคนิคด้วยคะแนนเท่ากัน ที่ รฟท.ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ว่า BSR ได้ไปแล้ว ซึ่งในการพิจารณาซองราคาจะดูว่าเจ้าไหนจะเรียกเงินอุดหนุนจากภาครัฐน้อยกว่ากัน ซึ่งรัฐกำหนดเพดานไว้ที่ 1.19 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าทั้งสองรายขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเท่ากัน Consortium ที่ได้คะแนนทางเทคนิคสูงกว่าก็จะเป็นผู้ชนะประมูล และคาดว่า รฟท.จะประกาศผลการประมูลได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของบริษัท คาดว่า CP consortiums จะเหนือกว่า BSR ในทุกด้าน เพราะหากดูโครงสร้างการถือหุ้นจะพบว่ามีกลุ่ม ช.การช่าง (CK) ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ China Railway Construction Corporation Limited ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่จะครอบคลุมมากกว่า และได้รับเงินสินเชื่อโครงการจากเจบิก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง คือสามารถเสนอได้ในราคาที่ต่ำกว่า

ขณะที่ CK เองก็จะพลาดงานนี้ไม่ได้ เพราะมีมูลค่างานในมือเพียง 5.5 หมื่นล้านบาท

“ที่ผ่านมาหากดูการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มซีพีที่เข้าไปมีที่ดินตามแนวที่รถไฟจะผ่าน จึงเชื่อว่าหากเป็นผู้ชนะการประมูลน่าจะพัฒนาให้เมืองรอบเส้นทางรถไฟฟ้าได้ดีกว่า” นักวิเคราะห์ระบุ