posttoday

ทุ่มพันล้านอัพเกรดโทลล์เวย์ เชื่อมจ่ายเงินเพิ่มกล้องจราจร

08 ธันวาคม 2561

โทลล์เวย์ทุ่มพันล้านอัพเกรดทางด่วนอัจฉริยะ เพิ่มกล้องวงจรปิด-ระบบแจ้งเตือนอุบัติเหตุและของหาย-เชื่อมอีซี่พาส ภายในปี 2563

โทลล์เวย์ทุ่มพันล้านอัพเกรดทางด่วนอัจฉริยะ เพิ่มกล้องวงจรปิด-ระบบแจ้งเตือนอุบัติเหตุและของหาย-เชื่อมอีซี่พาส ภายในปี 2563

นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง เปิดเผยว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ได้จัดทำแผนลงทุนทางด่วนอัจฉริยะ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (2561-2563) ภายใต้ชื่อ Smart Project ประกอบไปด้วย แผนติดตั้งกล้องวงจรปิด แผนพัฒนาด่านเก็บเงิน และแผนลงทุนงานระบบอัจฉริยะ อาทิ การปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบ Manual Toll Collection System (MTC) เพื่อทดแทนระบบเดิม รวมถึงการเตรียมความพร้อมการเชื่อมโยงกับระบบ M-Pass และ Easy Pass เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563 เริ่มจากแผนลงทุนระบบกล้องอัจฉริยะ วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อติดตามสภาพการจราจรบนทางด่วน ซึ่งจะช่วยยกระดับเมืองหลวงไปสู่สมาร์ทซิตี้ตามนโยบายรัฐบาล โดยกล้องดังกล่าวสามารถรายงานสภาพรถติดแบบเรียลไทม์ในแต่ละช่วงของโทลล์เวย์ พร้อมคำนวณเวลาการเดินทางก่อนส่งข้อมูลไปยังป้ายรายงานสภาพจราจรขนาดใหญ่ ซึ่งจะติดตั้งไว้ราว 5-10 จุดทั้งบนทางยกระดับและบนพื้นดิน

นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนทางยกระดับ ทำให้สามารถส่งเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 5-10 นาที ถือว่าลดระยะเวลาการเข้าถึงลง 1 เท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 10-20 นาที ตลอดจนมีระบบแจ้งเตือนเรียลไทม์เมื่อมีวัตถุตกลงบนพื้นถนนทางยกระดับ เพื่อช่วยในการตามหาเจ้าของในภายหลัง ส่งผลให้โอกาสการได้สิ่งของคืนเพิ่มมากขึ้น

ด้านแผนลงทุนปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งระบบเดิมรูปแบบเงินสด หรือ MTC วงเงิน 300 ล้านบาท และการพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ ETC วงเงิน 100 ล้านบาท เป็นการรองรับให้สามารถใช้ร่วมกับระบบ M-Pass บนมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.) และระบบ Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นการชำระค่าทางด่วนผ่านบัตรเป็นครั้งแรกของโทลล์เวย์

นายศักดิ์ดา กล่าวถึงโครงการทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 6,200 ล้านบาท ในฐานะเอกชนผู้ดูแลงานระบบนั้นมองว่าโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง แนวเส้นทางตลอดจนปีที่เปิดให้ดำเนินการ ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงทางการลงทุนในเรื่องความไม่แน่นอน ประกอบกับระยะเวลาสัมปทานเหลือเพียง 15 ปี อาจยังไม่คุ้มค่าที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากรวมระยะเวลาก่อสร้าง 2-3 ปีเข้าไปด้วยระยะเวลาสัมปทานที่เหลือก็จะสั้นลง