posttoday

เปิดทางเยียวยาทีวีดิจิทัลตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ 700

08 ธันวาคม 2561

"วิษณุ" ไฟเขียว กสทช.เยียวยาคลื่นความถี่ 700 ประกาศตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่น

"วิษณุ" ไฟเขียว กสทช.เยียวยาคลื่นความถี่ 700 ประกาศตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า การประชุมหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงการคลัง เพื่อรับทราบกรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อพิจารณานำไปประมูลคลื่นใหม่ที่มีประโยชน์มากกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล กสทช.สามารถดำเนินการได้

"เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีหากจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ได้เรียกร้องให้ชดเชยเยียวยา ซึ่ง กสทช.ยังไม่มีแนวทางว่าจะเยียวยาอย่างไร" นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ จะต้องต่อรองกันอีกครั้งระหว่าง กสทช. ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และเจ้าของโครงข่าย หรือมักซ์ (MUX) ซึ่งมี 4 ราย ได้แก่ ช่อง 5 กรมประชาสัมพันธ์ อสมท และไทยพีบีเอส โดยโครงข่ายพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือทั้งหมด ส่วนการเยียวยาไม่ขัดกฎหมาย หรือขาดวินัยการเงินการคลัง กสทช.สามารถดำเนินการได้เลย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมา ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 กสทช.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ มี พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน

"คณะทำงานจะทำหน้าที่จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่านไหน เป็นจำนวนเท่าไร จัดทำแผนเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ศึกษาประเมินมูลค่าคลื่น ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเรียกคืนคลื่นต่อไป" นายฐากร กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาทีวีดิจิทัลขณะนี้ว่า ปัญหาของทีวีดิจิทัลคือการขยายมากเกินไป มีมากแค่ไหนคนดูก็เท่าเดิม สปอนเซอร์ ก็เท่าเดิม แต่เมื่อเอามาหารจำนวนช่องที่มีอยู่แล้วมันจะอยู่ได้หรือไม่

"เห็นเขามีก็อยากมีบ้าง มันก็เกิดปัญหา เรียกว่าเป็นการลงทุนโดยไม่นึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เห็นเขาดี เขารวย ก็ลงทุนกู้ พอเขารวยแล้วเขาก็เลิก ลงทุนมากๆ มันก็เจ๊ง ล้มหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่า