posttoday

รถไฟทางคู่เฟส1สะดุด สั่งรื้อแบบก่อสร้างทั่วประเทศ

26 พฤศจิกายน 2561

รถไฟทางคู่เฟส1สะดุด สั่งรื้อแบบก่อสร้างทั่วประเทศ

รถไฟทางคู่เฟส 1 สะดุด ปรับแบบก่อสร้างทั่วประเทศ รฟท.-รัฐบาลเสียงแตกสร้างสถานียกสูง หวั่นขนส่งสินค้ายาก เสี่ยงโครงการล่าช้า

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 รวม 5 เส้นทางนั้นต้องเจอกับปัญหาการปรับแบบที่ยังไร้ข้อสรุปของฝ่ายนโยบายจนอาจส่งผลกระทบต่อความล่าช้างานก่อสร้างและการดำเนินงานภาพรวมของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เนื่องจากขณะนี้มีข้อถกเถียงกันเรื่องของแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ซึ่งฝ่ายนโยบายกำหนดให้ทำสถานียกสูง(High Platform) และลดปริมาณรางสับหลีกตามสถานี เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่นที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ

ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ใช้รูปแบบสถานียกสูงในเส้นทางสายใต้ทั้ง 5 สัญญาด้วยเช่นกัน ทว่าทางรฟท.เห็นว่าการใช้สถานียกสูงจะทำให้รถขนส่งสินค้า รถไฟล้ำพิกัดและรถไฟด้านความมั่นคงของทหารไม่สามารถเข้าจอดที่สถานีใดได้เลย ประกอบกับไม่มีทางสับหลีกทำให้รถไฟขนส่งสินค้าจะมีปัญหาอย่างมากในอนาคต เช่นเดียวกับคุณภาพงานบริการของประชาชนเพราะรถไฟบรรทุกผู้โดยสารในปัจจุบันเป็นแบบต่ำ ดังนั้นในอนาคตรถไฟทางคู่ทุกสายอาจต้องใช้แผ่นรองเดินขึ้นชานชาลาเนื่องจากสถานีอยู่สูงกว่าตัวรถ แต่ในวันนี้ต้องรีบตัดสินใจเพราะหากจะยกระดับสถานีทางคู่ รฟท.จะต้องสั่งซื้อรถไฟใหม่ที่เป็นรองรับชานชาลาสูงมาด้วย

“ในวันนี้ต้องรีบหันหน้าคุยกันเพื่อไม่ทำให้โครงการล่าช้า ฝ่ายนโยบายควรทำหน้าที่วางกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่เรื่องแบบก่อสร้างเป็นงานเทคนิคที่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างรฟท.เป็นคนตัดสินใจ”แหล่งข่าวกล่าว

นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบํารุงรถจักรและล้อเลื่อน รฟท.กล่าวว่าขณะนี้รฟท.และฝ่ายนโยบายอยู่ระหว่างหารือกันถึงปัญหาดังกล่าวว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เพราะขณะนี้งานก่อสร้างในแต่ละสัญญาได้เริ่มต้นไปแล้วในช่วงแรก ดังนั้นการออกแบบสถานีจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดทำต่อไป ในมุมมองของรฟท.แล้วสามารถออกแบบสถานีให้เป็นแบบสูงได้ แต่ต้องก่อสร้างทางสับหลีกไว้ในสถานีด้วย เพื่อให้รถไฟที่เข้าไม่ได้ไปจอดในจุดดังกล่าว ทว่าวันนี้ฝ่ายนโยบายมองว่าการทำรถไฟทางคู่วิ่งสวนกันได้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีทางสับหลีก ถือว่าเป็นข้อเสนอทางเทคนิคที่ยังดูไม่เหมาะสมเนื่องจากความเป็นจริงแล้วมีโอกาสที่รถไฟหลายประเภทจะมาถึงยังสถานีไล่เลี่ยกันและมีระยะเวลาการจอดที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นหากทุกคันต้องวิ่งเข้าชานชาลาโดยไม่มีทางหลีกอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องระยะเวลาเดินทางต่อเที่ยวหรือดีเลย์ได้

สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 รวม 5 เส้นทางนั้นมีความก้าวหน้าดังนี้ 1.รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล คืบหน้า 8.21% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน คืบหน้า 11.9% 2.รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ คืบหน้า 16.4% 3.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย คืบหน้า7.7% และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร คืบหน้า 9.4% 4.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระและ 5.รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ มีความคืบหน้าการก่อสร้างเฉลี่ย 8-10%