posttoday

บิ๊กทุนเอเชียตบเท้าชิงเค้กท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

21 พฤศจิกายน 2561

ผอ.แหลมฉบังเผยบิ๊กทุนเอเชียตบเท้าชิงเค้กแหลมฉบัง แจงไทม์ไลน์พร้อมเผยตัวชี้วัดสำคัญตัดสินผลแพ้-ชนะประมูล

ผอ.แหลมฉบังเผยบิ๊กทุนเอเชียตบเท้าชิงเค้กแหลมฉบัง แจงไทม์ไลน์พร้อมเผยตัวชี้วัดสำคัญตัดสินผลแพ้-ชนะประมูล

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.  นายมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่าหลังจากปิดขายซองเงื่อนไขการประกวดราคาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 สัมปทาน 35 ปีนั้น พบว่ามีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองอย่างคึกคักรวม 32 ราย โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของเอเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้นรวมถึงกลุ่มทุนยุโรปอย่างสวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยมและฮอลแลนด์ ส่วนด้านกลุ่มทุนไทยที่แสดงความสนใจก็มาจากหลากหลายด้านทั้งพลังงาน อาหารและโลจิสติกส์ รวมถึงเอกชนที่บริหารในท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้วก็แสดงความสนใจเช่นกัน

นายมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการยื่นข้อเสนอที่สำคัญนั้นประกอบด้วย 1.ข้อทดสอบด้านคุณสมบัติ มีคะแนนเต็ม 100 คะแนนรวมทั้งสิ้น 7 หมวดหมู่ โดยผู้ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนนี้จะต้องได้คะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และคะแนนรวมทุกหมวดหมู่ต้องสูงกว่าร้อยละ 80 2.ข้อเสนอผลตอบแทนเพิ่มเติม (value-added offer) ให้กับโครงการ โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นผลตอบแทนต่อตู้คอนเทนเนอร์(TEUs) อาทิ 200 บาท/ตู้คอนเทนเนอร์ หากใน 1 ปีมีตู้สินค้า 1 ล้านตู้ก็ต้องจ่ายเพิ่มให้รัฐ 200 ล้านบาท โดยข้อเสนอด้านการเงินกับคุณสมบัตินั้นคนละส่วนกันจะไม่นำมาคิดคะแนนรวม ดังนั้นแม้คะแนนคุณสมบัติไม่ดีแต่ข้อเสนอทางการเงินดีที่สุดก็อาจชนะโครงการได้

นายมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับแผนงานโครงสร้างพื้นฐานนั้นได้ปรับลดวงเงินจาก 4.9 หมื่นล้านบาท เหลือ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้เพื่อมาลงทุนระยะ 5 ปี ศึกษาไว้หลายรูปแบบคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนธ.ค.-ม.ค. 2562 เช่นเดียวกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ที่ต้องเสร็จไล่เลี่ยกันเพื่อลงนามสัญญาโครงการในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2562

สำหรับเอกชนที่เข้าซื้อซอง ประกอบไปด้วย 1. บ.ที ไอ พี เอส จำกัด (ไทย) 2. Itochu Corporation (ญี่ปุ่น) 3. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนคอนสตรัคชั่นจำกัด( ไทย) 4. บริษัทแหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (ไทย) 5. บริษัท เจดับเบิลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด(มหาชน) (ไทย) 6. บริษัท ซีเอชอีซี(ไทย) จำกัด (ไทย) 7. อิตาเลียนไทย (ไทย) 8. C.P. Holding Company (ไทย) 9. China Harbor Engineering Co.,ltd (จีน) (บริษัทแม่ของข้อ 6) 10. Fujita corporation (ญี่ปุ่น) 11. Mitsui (ญี่ปุ่น) 12. China Merchants Port (ฮ่องกง)

13.InternationalContainer Terminal (ฟิลิปินส์) 14.Sumitomo Coporation Thailand (ไทย) 15. บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (ไทย) 16. บริษัทฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ไทย)17. PSA Internatina PTE Ltd. (สิงค์โปร์) 18. บริษัท บางกอก โมเดริน เทอร์มินอล จำกัด (ไทย) 19. บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่งจำกัด (ไทย) 20. บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (ไทย) 21. China Railway Construction (Southeast Asia) Co.,Ltd (จีน) 22. Shekou Container Terminals Ltd. (จีน) 23. APM Terminal B.V. (เนเธอร์แลนด์) 24. Adani Port & Special Economic Zone Ltd. (อินเดีย)

25. บริษัท บีเอ็มที แปซิฟิค จำกัด (ไทย) 26. บริษัท เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 27. Terminal Investment Limited Sarl (สวิสเซอร์แลนด์) 28. Dredging International nv. (เบลเยี่ยม) 29. Boskails International B.V. (เนเธอร์แลนด์) 30. บริษัท ซี.อาร์.ซี. การท่าเรือ จำกัด (ไทย) 31. China Communication Construction Company LTD. (จีน) 32. บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มหาชน (ไทย)