posttoday

เกษตรฯชงครม.ของบ2หมื่นล้านแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

14 พฤศจิกายน 2561

รมว.เกษตรฯรียมชงครม.ของบกลางกว่า 2 หมื่นล้านช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง ทั้งการให้เงินช่วยเหลือ-จ่ายส่วนต่างราคา-ประสานหน่วยงานรัฐซื้อผลลิตภัณฑ์จากยางเพิ่ม

รมว.เกษตรฯรียมชงครม.ของบกลางกว่า 2 หมื่นล้านช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง ทั้งการให้เงินช่วยเหลือ-จ่ายส่วนต่างราคา-ประสานหน่วยงานรัฐซื้อผลลิตภัณฑ์จากยางเพิ่ม

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงหลังการประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่าเตรียมเสนอคณะรัฐมตรีช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทั้งมาตรการเร่งด่วนโดยของบกลางกว่า 2หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ทันวันที่ 20 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าใจว่ารัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ แต่งบประมาณประเทศมีจำกัดและรัฐบาลไม่มีนโยบายซื้อยางมาเก็บสต๊อกจนเป็นภาระงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอครม.กระทรวงได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนเข้าช่วยซื้อยางในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับมาตรการเร่งด่วนมีดังนี้

1.การช่วยเหลือเงินเพื่อเป็นค่าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) 1.4 ล้านครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท ต่อไร่ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นอย่างน้อย โดยคิดจากฐานของปีที่ผ่านมาที่ใช้เงินประมาณ 10,200 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดคำนวนว่าจะเพิ่มจำนวนไร่ที่จะช่วยเหลือจะเพิ่มจำนวนเงินต่อไร่ จึงจะกำหนดวงเงินได้ แต่เบื้องต้นจะไม่ต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมา คาดว่าใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

2.มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยจะใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้กยท. จ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขายยาง 3ชนิด ให้บริษัทเอกชนหรือสหกรณ์ แล้วได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ตลาดกลางยางพารากยท.กำหนด โดยเบื้องต้นจะใช้เงินของกยท.ก่อนและหากไม่พอจะใช้เงินของงบกลางแต่จะขอตั้งวงเงินงบกลางก่อน ซึ่งยาง 3ชนิดที่จะเข้าไปจ่ายส่วนต่างประกอบด้วย น้ำยางดิบที่เป็นเนื้อยาง 100% ที่ราคา 37 บาท ยางก้อนถ้วยเนื้อยางแห้ง 100% ราคา 35 บาทและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะซื้อจนกว่าสถานการณ์ราคาจะดีขึ้น

3.จะเสนอให้ทบทวนโครงการการใช้ยางพาราในภาครัฐ เนื่องจากพบว่ามีปัญหาเรื่องราคาวัสดุที่มีส่วนผสมของยางจะแพงกว่าสินค้าทั่วไปทำให้ข้าราชการไม่กล้าจัดซื้อเกรงผิดระเบียบพัสดุจึงจะประสานให้กรมบัญชีกลางช่วยปรับปรุงระเบียบเพื่อเอื้อต่อการใช้วัสดุจากยางพารา

ประสานให้หน่วยราชการประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลาโหม แจ้งความต้องการใช้เครื่องนอน หมอน เพื่อให้กยท.ซื้อน้ำยางดิบมาผลิตเพื่อแจกจ่ายกับหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากยังมีงบค้างท่ออีกประมาณ 1หมื่นล้านบาท หากสามารถปรับปรุงระเบียบได้จะมีเงินก้อนนี้จากหน่วยงานมาช่วยซื้อยางแปรรูปเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จะเชิญเอกชนผู้ผลิตล้อยาง และบริษัทอิเกียหารือเพื่อขอความร่วมมือในการซื้อน้ำยาง ไม้ยางเพื่อผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออก ซึ่งรัฐบาลพร้อมมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย

รมว.เกษตรฯกล่าวด้วยว่า ขณะนี้การใช้ยางพาราทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นเกษตรกรควรต้องเริ่มปรับตัว ลดการปลูกยางและหันมาปลูกพืชอื่นเสริมรายได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรปรับตัว

ด้าน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่ากยท.กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรนั้นจะเป็นการจ่ายในอัตรา 60:40 สำหรับเจ้าของสวนและคนกรีด ซึ่งมีทะเบียนชื่อและจ่ายผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างราคา กทย.ใช้เงินกยท.ตามมาตรา 49(3) โดยคาดว่าจะใช้เงินหมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินกยท.ที่ต้องกลับไปดูว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่