posttoday

คุมค่ารักษาพยาบาลดัดหลังรพ.เอกชนคิดแพงต้องแสดงราคาผ่านเว็บไซต์

10 พฤศจิกายน 2561

"พาณิชย์"ถก"สาธารณสุข"แก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง เตรียมผลักดันให้แสดงราคาผ่านเว็บไซต์

"พาณิชย์"ถก"สาธารณสุข"แก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง เตรียมผลักดันให้แสดงราคาผ่านเว็บไซต์

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีการร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาการคิดค่ารักษาพยาบาลและค่ายาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีการคิดค่าบริการสูงเกินจริงว่า วันที่ 9 พ.ย.นี้ กรมจะหารือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาแนวทางกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่ได้หารือมาแล้วหลายรอบคือตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ แนวทางเบื้องต้นจะเสนอให้มีการแสดงราคาค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้มีความโปร่งใสผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น รวมทั้งโปร่งใส ลดความสงสัยและข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น

"ที่ผ่านมากรมไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว โดยกรมได้ออกไปตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 62 แห่ง ช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามีการแสดงราคาตรงไหนบ้าง โดยบาง โรงพยาบาลทำเป็นเอกสารให้เปิดดู บางโรงพยาบาลใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ บาง โรงพยาบาลใส่ในเว็บไซต์ จึงเห็นว่าควรจะมีมาตรฐานการปิดป้ายแสดงราคาที่ เหมือนๆ กัน เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลมีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรจะขึ้นเว็บไซต์ เพื่อประชาชนประกอบการตัดสินใจ" นายประโยชน์ กล่าว

สำหรับรายละเอียดที่จะต้องนำไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ จะต้องมีรายการ ค่ายาที่จำเป็นที่คนต้องใช้ เพราะมีสถิติประกอบอยู่แล้วว่าปัจจุบันคนใช้ยาอะไรมาก หรือค่ารักษาพยาบาล ค่าผ่าตัด ต้องใส่ไว้ โดยยึดตามหลักสถิติการใช้บริการ และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแล้ว จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนมาหาหรือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

นายประโยชน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้นำค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุมภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 นั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบก่อน หากเห็นด้วยจะนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากำหนดเป็นสินค้าและบริการควบคุม และจะมีมาตรการกำกับดูแลได้ต่อไป เหมือนกับสินค้าควบคุมอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำตาลทราย เป็นต้น
         
"เชื่อว่าคงไม่ต้องถึงนำเข้าบัญชีควบคุม เพราะมองว่าโรงพยาบาลเอกชนจะให้ความร่วมมือในการเปิดเผยและแสดงข้อมูลค่ารักษาและราคายาให้ชัดเจน แต่หากไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าไปถึงจุดนั้นก็คงต้องนำเข้าบัญชีควบคุม ส่วนกำหนดราคายาที่สูงเกินไปเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องดูแลเพราะมีราคากลางเปรียบเทียบที่ใช้กับโรงพยาบาลรัฐไว้อยู่แล้ว" นายประโยชน์ กล่าว

ปัจจุบันการดูแลเรื่องค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคาไว้ในที่เปิดเผยและชัดเจน ส่วนราคายากระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว