posttoday

น้ำมันเข้าตลาดหมี 5สัปดาห์ร่วง20%

10 พฤศจิกายน 2561

ราคาน้ำมันโลกเข้าสู่ภาวะขาลง หลังซัพพลายการผลิตล้น-แผนคว่ำบาตรอิหร่านไม่แรงตามคาด

ราคาน้ำมันโลกเข้าสู่ภาวะขาลง หลังซัพพลายการผลิตล้น-แผนคว่ำบาตรอิหร่านไม่แรงตามคาด

ซีเอ็นบีซีและรอยเตอร์สรายงานว่า ตลาดน้ำมันโลกได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือภาวะที่ราคาปรับลดลงมามากกว่า 20% เรียบร้อยแล้ว โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและสัญญาน้ำมันดิบ
เบรนต์ปรับตัวลงมากกว่า 20% นับตั้งแต่ที่ทำสถิติสูงสุดรอบ 4 ปี เมื่อช่วงต้นเดือน  ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยกำลังการผลิตทั่วโลกที่เพิ่มขึ้่น ความกังวลเรื่องสงครามการค้า และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่แรงน้อยกว่าที่คาดไว้

รายงานระบุว่าสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสลดลง 21% จากระดับสูงสุดรอบ 4 ปี ที่ 76.90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 60.40 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ลดลง 18.6% จากระดับสูงสุด 4 ปี ที่ 86.74 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ลงมาอยู่ที่ 70.74 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อวันที่ 8 พ.ย. และล่าสุดระหว่างการซื้อขายวานนี้ น้ำมันดิบเบรนต์งวดส่งมอบเดือน ม.ค. ยังลดลงมาแตะระดับต่ำกว่า 70 อยู่ที่ 69.69 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. หลังจากที่มีรายงานสต๊อกน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาพลังงาน เบิร์นสไตน์ เอ็นเนอร์จี กล่าวว่า ปัจจัยลบที่ฉุดราคาน้ำมันโลกมาจากซัพพลายที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ทำให้สามารถชดเชยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่สหรัฐประกาศใช้ไปเมื่อต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมาจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชอตัวลง ซึ่งจะฉุดดีมานด์น้ำมันลงด้วย

กระทรวงพลังงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบสำรองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรับเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรล ในขณะที่การผลิตน้ำมันของสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้สหรัฐแซงหน้ารัสเซียขึ้นเป็นผู้ผลิตมากที่สุดอันดับ 1 ของโลกแล้ว และกระทรวงพลังงานยังคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 12.1 ล้านบาร์เรล/วัน ได้ภายในกลางปี 2562 เนื่องจากได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาน (เชลออยล์)

เบิร์นสไตน์ เอ็นเนอร์จี ยังระบุว่า การผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านให้ 8 ชาติซื้อขายน้ำมันจากอิหร่านได้ในปริมาณที่จำกัด ยังช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องราคาน้ำมันด้วย โดยคาดว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้เฉลี่ย 1.4-1.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับที่เคยส่งออกได้สูงสุดเกือบ 3 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อช่วงกลางปีนี้ 

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) จะประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกนอกโอเปกในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือว่าจะลดการผลิตลงหรือไม่หลังราคาปรับลดลงหนัก