posttoday

รื้อแบบเดินหน้ารถไฟไทย-จีน

07 พฤศจิกายน 2561

รฟท.ย้ำเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สั่งปรับแบบ เร่งประมูลปีนี้ 1.2 แสนล้าน นัดประชุมร่วม 24 พ.ย.นี้

รฟท.ย้ำเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สั่งปรับแบบ เร่งประมูลปีนี้ 1.2 แสนล้าน นัดประชุมร่วม 24 พ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เฟส 1 ล่าสุดได้ปรับแบบการก่อสร้างโครงการ จากเดิมจะใช้แบบหินโรยบนรางตลอดเส้นทางจะปรับเป็นแบบไม่มีหินโรยในบางช่วง อย่างเช่น บริเวณสถานี เพื่อลดค่าซ่อมบำรุงในระยะยาว

ขณะนี้ได้ทยอยนำการปรับแบบไปใส่ในเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้ จะเปิดประมูลสัญญางานก่อสร้างรวม 13 สัญญา วงเงินราว 1.2 แสนล้านบาท เริ่มจากตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,300 ล้านบาท คาดว่าจะเข้าสู่การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ของกรม บัญชีกลางได้ในช่วงกลางเดือนนี้

สำหรับสัญญาที่ 3 ช่วงสถานี จันทึก-สถานีคลองไผ่ วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท นั้นเตรียมนำทีโออาร์ขึ้นเว็บไซต์และเปิดประมูลในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ เช่นเดียวกับสัญญาก่อสร้างอีก 5 สัญญา วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดประมูลช่วงต้นเดือน ธ.ค. และสัญญาก่อสร้างอีก 6 สัญญา วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท

"ต้องลุ้นว่าจะประมูลได้ทันภายในปลายเดือน ธ.ค.หรือไม่ อย่างช้าอาจขยับไปเดือน ม.ค.-ก.พ. จากกรณีที่มีบางฝ่ายกังวลว่าโครงการนี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนั้น ขอยืนยันว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังเป็นโครงการแบบรัฐต่อรัฐกับประเทศจีน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอะไรให้กระทบกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ" แหล่งข่าวระบุ

นอกจากนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 26 จะจัดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ที่ประเทศไทย สำหรับประเด็นหลักที่จะหยิบขึ้นมาหารือ คือ เรื่องสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 5.3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทคู่สัญญาอย่างองค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CRDC) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CRIC) ต้องชี้แจงรายละเอียดราคาต่างๆ ให้ชัดเจนว่ามูลค่างานในแต่ละจุดนั้นมีรายละเอียดแยกย่อยอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาแค่เพียงระบุตัวเลขภาพรวมแต่ไม่มีชี้แจงรายละเอียด ซึ่งอาจขัดกับหลักกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม งานวางรางตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายนั้น จะต้องนำเข้าวัสดุจากจีนมาทั้งหมดเพราะในประเทศไม่สามารถผลิตเองได้เช่นเดียวกับรางรถไฟในปัจจุบันของไทยที่ญี่ปุ่นได้มาก่อสร้างไว้ให้ตั้งยุคสงคราม รวมทั้งจะมีการหารือเรื่องแนวทางการดำเนินโครงการระยะ ที่สอง (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) การเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เป็นต้น