posttoday

งานวิจัย ‘ลงหิ้ง’ สู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์

20 ตุลาคม 2561

สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการแข่งขันที่วิ่งไวและก้าวกระโดดไปสู่ยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต

เรื่อง : พรเทพ เฮง [email protected]

โลกยุคปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมากกับการให้งบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (Research & Development - R&D) และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการแข่งขันที่วิ่งไวและก้าวกระโดดไปสู่ยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ถึงปี 2564 เขียนไว้ชัดเจนว่า งบวิจัยและพัฒนาต้องไม่ต่ำกว่า 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (Gross Domestic Product - GDP) จากเดิมที่ใช้งบวิจัยประมาณ 0.5% ของจีดีพี

ฉะนั้น ประมาณการได้เลยว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า งบวิจัยและพัฒนาจะโตอีกอย่างน้อย 3 เท่าของปัจจุบัน หรือหมายถึงจะมีงบกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีสำหรับงานวิจัย

การวางเป้าหมายประเทศให้ก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศรายได้สูง และจากการดูกรณีศึกษาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จ ล้วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วยงานวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น เพื่อเลื่อนหรือยกระดับฐานะจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower-Middle-Income Country) ก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-Middle-Income Country)

ยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ซึ่งคือเส้นทางสู่ความสำเร็จของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ใช้อธิบายว่าประสิทธิภาพและความประหยัดต้นทุนของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? เมื่อเวลาผ่านไปและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

และ New S-Curve หรือ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

รวมถึงให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมผ่านการเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยสร้างชาติ จาก 0.5% ของจีดีพี เป็น 1.5% ของจีดีพี กำลังทำให้ประเทศไทยมีความหวังมากขึ้น

หากมองลงไปที่คำว่า นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการปฏิรูป พัฒนาต่อยอดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้ จะต้องมีความแปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด

การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่า (มูลค่าของลูกค้า หรือมูลค่าของผู้ผลิต) เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

การจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กในชื่อ “ดัชนีผู้นำด้านนวัตกรรม” (Bloomberg Innovation Index) ในปี 2559 ไทยอยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก พอถึงปี 2560 ยกระดับขึ้นไปสู่อันดับที่ 44 ล่าสุดในปีนี้กลับตกไป 1 อันดับ ลงไปอยู่ที่ 45

@Weekly ฉบับนี้ เอกชัย จั่นทอง พาไปท่องโลกของงานวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ (Commercialization) ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม และกำลังมีกระบวนการทำงานที่เข้มข้นจริงจังในทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมก้าวหน้า