posttoday

รฟท.ขยับค่าเช่าที่ดิน ย่านรัชดาปรับตามราคาประเมินใหม่

16 ตุลาคม 2561

ครม.เคาะงบเพิ่มให้ 2 หน่วยงานเช่าที่ดิน รฟท. หลังเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

ครม.เคาะงบเพิ่มให้ 2 หน่วยงานเช่าที่ดิน รฟท. หลังเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเพิ่มวงเงินผูกพันข้ามปีสำหรับค่าเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในย่านถนนรัชดา ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากวงเงินที่ขออนุมัติผูกพันไว้เดิมนั้นต่ำกว่าวงเงินที่ค่าเช่าจริงภายหลังที่ รฟท.แจ้งปรับเพิ่มค่าเช่า

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของ รฟท.บริเวณถนนรัชดาภิเษก มีค่าเช่าที่ดินระยะ 3 ปี ช่วงปี (2560-2562) ปรับเพิ่มขึ้น 5% ของอัตราที่เคยเรียกเก็บก่อนหมดอายุสัญญา ซึ่งได้ตั้งคำของบประมาณเสนอต่อ ครม.ไปก่อนที่ รฟท.จะมีหนังสือแจ้งการปรับขึ้นค่าเช่าในการต่อสัญญาใหม่ โดยอัตราค่าเช่าใหม่ที่ รฟท.แจ้งมามีวงเงินค่าเช่ารวม 3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 49.81 ล้านบาท เป็น 120.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 70.83 ล้านบาท

ด้านกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมนั้น เช่าที่ดินในย่านถนนรัชดา บริเวณแนวทางรถไฟสายบางซื่อ-คลองตัน เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานและลานจอดรถ เดิมมีค่าเช่า 21.3 ล้านบาท ปรับค่าเช่าใหม่อยู่ที่ 28.19 ล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การปรับค่าเช่าที่เก็บจาก 2 หน่วยงานข้างต้นไม่ได้เป็นผลจากการที่ รฟท.ต้องปรับค่าเช่าขึ้นเพื่อจะหารายได้มาลดปัญหาการขาดทุนขององค์กรตามแผนการฟื้นฟูกิจการ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนค่าเช่าปกติภายหลังสัญญาเดิมสิ้นสุดลงและสัญญาใหม่ก็ต้องอ้างอิงกับราคาประเมินใหม่ ซึ่งราคาประเมินใหม่ในย่านถนนรัชดาก็เพิ่มขึ้นอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเช่าที่ออกมาจึงไม่ใช่ 5% จากค่าเช่าเดิม

“การปรับเพิ่มค่าเช่าหลังต่อสัญญาไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะ 2 หน่วยงาน แต่เพิ่มขึ้นทั้งหมดทั้งที่ดินของรัฐและของเอกชน และในพื้นที่อื่นก็เพิ่มขึ้น เพียงแต่แถวรัชดาจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า และที่หน่วยงานราชการเช่าอยู่ก็เช่าอยู่แถวรัชดา โดยการคิดค่าเช่ากับหน่วยงานราชการก็คิดแบบอัตราผ่อนปรนพิเศษแล้ว” นายวรวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 มีสัญญาที่ รฟท.ให้เช่าที่ดินสิ้นสุดลงประมาณ 2,300 สัญญา ซึ่งจะทยอยทำสัญญาใหม่ด้วยอัตราค่าเช่าใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้เช่ารายย่อย ขณะที่บริเวณที่ดินผืนใหญ่มูลค่าสูงนั้นส่วนใหญ่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2564-2565

ปัจจุบัน รฟท.มีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอยู่ทั้งสิ้น 2.4 แสนไร่ แยกเป็นที่ดินตามแนวทางรถไฟ และบ้านพักรวม 2 แสนไร่ ส่วนที่ดินที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์มีอยู่ 4 หมื่นไร่ โดยในปี 2561 รฟท.ตั้งเป้าทำรายได้จากการบริหารที่ดินรวม 3,000 ล้านบาท คาดจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย หรือถ้าต่ำกว่าเป้าหมายจะไม่ต่ำไปกว่ารายได้ในปี 2560 อยู่ที่ 2,900 ล้านบาท

นายวรวุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.เพื่อบริหารที่ดินของ รฟท.นั้น ขณะนี้การจัดทำร่างหลักเกณฑ์และโครงสร้างองค์กรเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอให้ ครม.อนุมัติ คาดจะตั้งบริษัทลูกได้ภายในปีนี้ n