posttoday

"กฤษฎา"โชว์ผลงาน4ปีเพิ่มรายได้ปลดหนี้เกษตรกร

12 ตุลาคม 2561

รมว.เกษตรฯแจงผลงาน 4 ปีช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มกว่า1.3ล้านครัวเรือน ปลดหนี้ในกองทุนกฟก.3.6หมื่นรายมูลหนี้1.02 หมื่นล้านบาท

รมว.เกษตรฯแจงผลงาน 4 ปีช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มกว่า1.3ล้านครัวเรือน  ปลดหนี้ในกองทุนกฟก.3.6หมื่นรายมูลหนี้1.02 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สรุปผลการดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2561)ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการปฏิรูปภาคการเกษตร สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนโดยการดำเนินการในหลายนโยบาย และปลดหนี้เกษตรกรในกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกร(กฟก.)  3.6หมื่นราย มูลหนี้ 1.02 หมื่นล้านบาท

โครงการสำคัญของกระทรวงประกอบด้วย แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ  ใช้แนวทาง “ตลาดนำการผลิต  โดยประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อประเมินความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกัน โดยสินค้าสำคัญคือข้าว รัฐได้ใช้โครงการข้าวครบวงจร กำหนดแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้  ส่งผลให้ราคาข้าวของเกษตรกรอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นได้นำนโยบายโซนนิ่ง หรือการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม (Zoning by Agri-Map) เช่นสินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์  ผลผลิตทางการเกษตรจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศนอกจากนั้นยังได้มีการเชื่อมโยงพื้นที่ตลาดรับซื้อ และได้มีการทำแอฟพิเคชั่นในมือถือ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประกอบวางแผนการผลิต   นอกจากนั้นได้ให้หน่วยราชการในพื้นที่ช่วยประสานการรับซื้อของเกษตรกรและเอกชน โดยให้พิจารณากฏหมายพันธะสัญญามาประกอบเพื่อความเป็นธรรมกับเกษตรกรและผู้รับซื้อ    ซึ่งในข่าวกระทรวงเขียนว่า(Zonning by Agri-Map)   

ด้านแหล่งน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557รัฐบาลได้พัฒนาแห่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตร และระบบกระจายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าของแต่ละปีที่เคยทำมาในอดีตโดยมีระบบชลประทานใหม่ 3,500 แห่ง ในพื้นที่เกษตร 2.8 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์มตร(ลบ.ม.)   การทำแผนบริหารจัดการน้ำป้องกันอุทกภัย โดยจัดหาพื้นที่รองรับน้ำหลากในทุ่งบางระกำ 1 ทุ่ง และทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง เพื่อให้ปลูกข้าวก่อนและเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำหลาก จากนั้นใช้เป็นแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ระหว่างนั้นรัฐปล่อยปลา  เป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ 

สำหรับการส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันมี 4,007 แปลง พื้นที่ 5.17 ล้านไร่ เกษตรกรในโครงการ 320,453 คน มีการเชื่อมโยงการรับซื้อสินค้าเกษตรกับภาคเอกชนมูลค่าประมาณ6,300  ล้านบาท  และมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)  จำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ  และศูนย์เครือข่ายกว่า  1.05  หมื่นแห่ง แต่ในข่าวของกระทรวงเกตรฯเขียนว่า“ มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนั้นกระทรวงได้มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์  ผลักดันให้สหกรณ์ 1,300 แห่งเป็นหน่วยธุรกิจ(บียู)  ในการพัฒนาสหกรณ์ของตนเองให้มีการทำธุรกิจเอง ทั้งการผลิตและแปรรูป  ทำการตลาดเชื่อมโยงกับตลาดประชารัฐ  ร่วมถึง การเป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบทางการเกษตรในราคาเป็นธรรมกับสมาชิก  ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ทำให้ เกษตรกรมีเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 2,750 บาทต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า แนวทางการเพิ่มช่องทางการตลาดนอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะจับคู่ค้าให้ผู้ประกอบการมารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังได้กำหนดแผนพระพิรุณส่งเสริมตลาด e-commerce ขายผลผลิตทาง 0nline ด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและช่องทางการตลาดใหม่ ๆ มาสานต่อประสบการณ์จากเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน

สำหรับการลดหนี้สินของเกษตรกร คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)  ตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ  ในส่วนของลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เบื้องต้น  36,605  ราย วงเงิน  10,200 ล้านบาทโดยจะจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปชำระเงินกู้ตามสัญญาที่ทำกันใหม่ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง

ในประเด็นหนี้เกษตรกร พบว่า ข่าวกระทรวงไม่ระบุว่าเป็นการแก้หนี้ของเกษตรกรกลุ่มใดเนื่องจากขณะนี้มีการเรียกร้องในหลายกลุ่ม แต่ที่ครม.อนุมัติคือกลุ่มสมาชิกกฟก.โดยข่าวของกระทรวงระบุว่า

“ช่วยลดภาระหนี้สินสะสมของเกษตรกร 36,605 ราย จำนวน 10,200 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอครม. เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกลายเป็นหนี้เสีย โดยจะจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปชำระเงินกู้ตามสัญญาที่ทำกันใหม่ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง"

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการการเกษตรแผนใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปฎิรูปโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) ขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และจะบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพและแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น”

สำหรับผลงานสำคัญอีก 1 โครงการคือโครงการโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา  เป้าหมาย  2 ล้านไร่  พื้นที่ 33 จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งครม.อนุมัติมาตรการจูงใจดอกเบี้ย  0.01%การประกันภัยพืชไร่ และการเชื่อมโยงเอกชนมารับซื้อในราคาประกันขั้นต่ำ

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรลดปลูกข้าวนาปรัง มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งจะเริ่มพ.ย.  2561  -มี.ค.62โดยผลการเก็บข้อมูลของกระทรวงพบว่า เกษตรกรที่ปลูกข้าวจะมีรายได้ประมาณ  306  บาทต่อไร่ ในขณะที่ข้าวโพดมีรายได้ 3,690 บาทต่อไร่ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ  4  ล้านตันต่อปี จากความต้องการใช้ 8 ล้านตันต่อปี.