posttoday

'ทีดีอาร์ไอ'ติงทางด่วนใต้ดิน

12 ตุลาคม 2561

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตทางด่วนใต้ดิน หวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุนเหตุระยะทางสั้น ไม่ช่วยแก้รถติด

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตทางด่วนใต้ดิน หวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุนเหตุระยะทางสั้น ไม่ช่วยแก้รถติด

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการสร้างทางด่วนใต้ดินช่วงถนนนราธิวาสฯ-สำโรง ในหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการสร้างระยะทางเพียง 9 กิโลเมตร (กม.) อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ การก่อสร้างต้องตอบคำถามให้ได้ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือไม่ที่จะต้องดำเนินการในขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ขณะเดียวกันมองว่าสิ่งที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ควรแก้ปัญหาตอนนี้คือการบริหารจัดการ และการควบคุมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในระยะยาว

ด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับโครงการทางด่วนลอดใต้ดิน ระยะทาง 9 กม. วงเงินก่อสร้างกิโลเมตรละ 2,000-1 หมื่นบาทนั้น ตามหลักเทคนิคสามารถทำได้แต่ต้องตั้งคำถามว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสม หรือไม่ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังส่งเสริมการให้ประชาชนในเขตเมืองชั้นในใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลสวนทางกับแนวทางแก้รถติดของรัฐบาลที่ต้องการลดปริมาณจราจร และส่งเสริมให้คนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ อย่างเช่นระบบรถไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า การก่อสร้างทางด่วนใต้ดินนั้นเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ราคาแพงและต้องเวนคืนพื้นที่เยอะเพื่อทำระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน ซึ่งใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละมากกว่า 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังติดปัญหาด้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากต้องขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ ใจกลางเมือง ซึ่งจะรองรับฝุ่นละอองและควันพิษจำนวนมากในแต่ละวัน อีกทั้ง ยังมีงานเทคนิคที่ยุ่งยากกว่าการลงทุนระบบรถไฟฟ้ามากกว่าอีกด้วย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็น เพียงแค่แนวคิดในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งต้องมีการศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาดินอ่อนหาก ขุดอุโมงค์จะต้องใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างสูงมากอีกด้วย