posttoday

ผุดท่าเรือบกรับส่งออกโต แก้ปัญหาแหลมฉบังแออัด

11 ตุลาคม 2561

ผุดท่าเรือบกรับส่งออกโต แก้ปัญหาแหลมฉบังแออัด

สรท.ร่วมกับ สนข.ศึกษาแผนสร้างท่าเรือบกทั่วประเทศ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น 7 พ.ย.นี้ คาดแห่งแรกที่ฉะเชิงเทราในอีอีซี

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ แห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยในงาน สัมมนา "อนาคตโลจิสติกส์ประเทศไทย : เชื่อมโยงรถ-เรือ-ราง รองรับการค้าระหว่างประเทศ" ว่า ทาง สรท.ได้เข้าไปช่วยสำนักงานนโยบายและแผนการ ขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแผน แก้ปัญหาความแออัดในพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง โดยเบื้องต้นเสนอว่า ควรสร้างท่าเรือบก (Dry Port) ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของการส่งออกสินค้าทางเรือและแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

"ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ สนข.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในการคัดเลือกสถานที่ในการสร้างท่าเรือบกแห่งแรก คาดว่า จะอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและรองรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)" นายคงฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ท่าเรือบกมีความสำคัญในการส่งออกมาก เพราะเป็นเหมือนกันชน และช่วยกระจายการจราจรบริเวณท่าเรือ โดยการขนส่งทางเรือทั่วโลกโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ขณะที่ไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตเฉลี่ยปีละ 5-10% เช่นกัน และในปีนี้ ที่คาดว่าการส่งออกของไทยจะโต 9% ด้านปริมาณขยายตัว 10% หมายความว่าจะมีปริมาณตู้ขนส่งสินค้าเข้าออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังทะลุ 10 ล้านตู้ ขณะที่ความสามารถในการรองรับของท่าเรือแหลมฉบังตอนนี้อยู่ที่ 8-9 ล้านตู้/ปี

นายคงฤทธิ์ กล่าวว่า ท่าเรือบกที่ประเทศไทยมีอยู่ตอนนี้คือลาดกระบัง แต่ก็ใช้เกินกำลังแล้ว จำเป็นต้องสร้างท่าเรือบกเพิ่มทั่วประเทศทั้งในพื้นที่อีอีซี ภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้ หากสามารถสร้างท่าเรือบกให้เกิดขึ้นได้จะช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อ (คอนเนกติวิตี้) ให้การขนส่งไหลลื่นขึ้น ซึ่งจะเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต

อย่างไรก็ดี การสร้างท่าเรือบกจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง เพื่อลดการใช้ถนน เพราะสามารถนำตู้สินค้ามาดร็อปไว้ที่ท่าเรือบกเพื่อ เปิดตู้กระจายสินค้า แต่ความท้าทายของระบบรางที่มาจะเชื่อมคือ ต้องเป็นระบบไฟฟ้าเพื่อสามารถเพิ่มความเร็วและความถี่ในการวิ่งได้ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบก กล่าวว่า หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ผู้ประกอบการขนส่งทางบกจะ ไม่ปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง เพื่อไม่ให้มี ปัญหาและไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค