posttoday

รฟท.ลุยประมูลโครงการระบบราง1.7แสนล้านส่งท้ายปี61

01 ตุลาคม 2561

รฟท.กดปุ่มประมูลโครงการระบบราง 1.7 แสนล้านบาทส่งท้ายปี 61 เปิดสเป็คทีโออาร์รถไฟไทย-จีน ให้เวลาก่อสร้าง 15 เดือน-คะแนนวิธีก่อสร้างมากสุด

รฟท.กดปุ่มประมูลโครงการระบบราง 1.7 แสนล้านบาทส่งท้ายปี 61 เปิดสเป็คทีโออาร์รถไฟไทย-จีน ให้เวลาก่อสร้าง 15 เดือน-คะแนนวิธีก่อสร้างมากสุด

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รฟท.ตั้งเป้าเปิดประมูลโครงการระบบรางให้เดินหน้าได้ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมและเป็นการยกระดับคุณภาพบริการให้กับประชาชนผู้ใช้รถไฟ เริ่มจากโครงการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คันวงเงิน 6.5 พันล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากที่ บอร์ดรฟท.แล้ว เตรียมนำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์)ขึ้นเว็บไซต์เพื่อเปิดประชาพิจารณ์ภายใน 15 วันก่อนเปิดประมูลภายในเดือนนี้

ขณะที่โครงการเช่าหัวรถจักร 50 หัวรวมค่าซ่อมบำรุง วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ทีโออาร์ใกล้เสร็จแล้วคาดว่าจะเสนอเข้าบอร์ดในเดือนต.ค.นี้ ก่อนเปิดประมูลภายในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้

อย่างไรก็ตามยังมีโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 8.53 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เตรียมเสนอทีโออาร์เข้าสู่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) ภายในเดือนนี้หลังจากนั้นสามารถเปิดประมูลโครงการได้ตามแผนในเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท จะเป็นอีกโปรเจ็กส์ที่ต้องลุ้นว่าสามารถประมูลได้ตามแผนภายในปีนี้หรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดเลือกเส้นทางทยอยเปิดประมูลเช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 7 เส้นทาง

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าส่วนด้านความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงนั้นเริ่มจากโครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา รฟท.ได้นำร่างทีโออาร์ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3.3 พันล้านบาท ปรับลดลงจากวงเงินเดิม 5 พันล้านบาท ขึ้นเปิดประชาพิจารณ์บนเว็บไซต์แล้ว นับว่าเป็นการเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาที่จะเดินหน้าต่อไปในเดือนนี้ ส่วนอีก 12 สัญญาที่เหลือราว 1.2 แสนล้านบาทนั้นตามแผนที่ตั้งเป้าไว้คือทยอยเปิดประกวดราคาในปีนี้

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก วงเงิน 2.76 แสนล้านบาท นั้นรฟท.ได้เสนอผลศึกษาไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ส่วนด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมทุนPPPนั้นได้ส่งผลการศึกษาความเหมาะสม การออกแบบกรอบรายละเอียด ร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วอยู่ระหว่างรอเสนอครม.ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ นอกจากนี้รฟท.ยังได้ตั้งงบมากกว่า 100 ล้านบาทจัดจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียด รถไฟความเร็วสูงเฟสที่ 2 ช่วงหัวหิน-สุราษฎร์ธานี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพโลจิสติกส์ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนเฟส 3 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ อีกด้วย

รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่าสำหรับทีโออาร์งานรถไฟความเร็วสูงสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.นั้นได้มีข้อกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้เสนอราคา กรณีเป็นผู้ร่วมค้าทุกรายต้องมีอาชีพรับจ้างงานประกวดราคา โดยมีผลงานอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ผลงานก่อสร้างทางรถไฟที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท (หมายถึง การก่อสร้างทางรถไฟและติดตั้งระบบรางรถไฟ หรือผลงานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟ และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า หรือผลงานปรับปรุงทางรถไฟ (Track Rehabilitation) หรือผลงานเสริมความมั่นคงโครงสร้างทาง (Track Strengthening) หรือผลงานปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ หรือผลงานในลักษณะเดียวกัน เป็นได้ทั้งรูปแบบเสมอระดับ (At Grade) หรือยกระดับ(Elevated) หรือใต้ดิน (Underground) ทั้งนี้ไม่รวมผลงานก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงรถไฟ หรือรถไฟฟ้า และผลงานปรับปรุงโครงสร้างทางหลีก)

ผลงานก่อสร้างงานโยธาที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท (หมายถึงผลงานก่อสร้างถนน หรือผลงานก่อสร้างสะพาน หรือผลงานก่อสร้างทางลอด หรือผลงานก่อสร้างทางยกระดับ หรือผลงานก่อสร้างอุโมงค์)

สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. ทางรถไฟระยะทาง 11 กม. แบ่งเป็นการก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 7 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 4 กม. 2. ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Station yard) 1 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ เป็นต้น 3. งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และงานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ

โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 1. รายละเอียดการปฏิบัติตามข้อกำหนดรายการจำเพาะ 10 คะแนน 2. การบริหารจัดการและแผนงานโครงการ 20 คะแนน 3. บุคลากร 20 คะแนน 4. เครื่องจักรและอุปกรณ์ 10 คะแนน 5. วิธีการก่อสร้าง 40 คะแนน โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 60% และเมื่อรวมคะแนนทุกหัวข้อต้องได้ไม่น้อยกว่า 75% จึงจะผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ทั้งนี้บริษัทผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 เดือน นับจากวันที่ได้รับแจ้งให้เริ่มทำงาน