posttoday

ดับเบิ้ลยูทีโอหั่นเป้าค้าโลก

29 กันยายน 2561

องค์การการค้าโลก หวั่นสงครามการค้าบานปลาย ลดคาดการณ์การค้าโลกลงอีก ให้ปีนี้การค้าโลกโตแค่ 3.9% ปีหน้า 3.7%

องค์การการค้าโลก หวั่นสงครามการค้าบานปลาย ลดคาดการณ์การค้าโลกลงอีก ให้ปีนี้การค้าโลกโตแค่ 3.9% ปีหน้า 3.7%

องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปี 2561 จาก 4.4% เหลือ 3.9% และในปี 2562 จาก 4% เหลือ 3.7% เนื่องจากเป็นกังวลกับผลกระทบจากการตั้งภาษีตอบโต้กันระหว่างจีนและสหรัฐ

ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวของดับเบิ้ลยูทีโอตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1% ในปี 2018 และ 2.9% ในปี 2019 ซึ่งบ่งชี้ว่าสัดส่วนการขยายตัวของการค้าต่อ จีดีพีจะอยู่ที่ 1.3% สำหรับทั้งสองปี

"จนถึงขณะนี้ ผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจจากมาตรการภาษียังไม่มาก แต่ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจฉุดการลงทุนลง" รายงานระบุ พร้อมเสริมว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังเพิ่มขึ้น รัฐบาลของแต่ละชาติจึงควรหาทางคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ดับเบิ้ลยูทีโอเตือนว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ยังเสี่ยงเผชิญผลกระทบต่อการค้า จากแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในบางประเทศ อาจกระทบการผลิตและซัพพลายเชน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2561 จาก 4.5% เป็น 4.6% เนื่องจากครึ่งปีแรกผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทย เติบโตกว่าที่คาดไปอยู่ที่ 4.8% และครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.4% แผ่วลงเล็กน้อยจากฐานที่สูงของการส่งออกและการท่องเที่ยวกลับมาในไตรมาส 4 ประกอบกับการนำเข้าเร่งตัวขึ้นมา ทำให้ลดทอนการขยายตัวของจีดีพีลงไป

นอกจากนี้ ในรายละเอียดได้ปรับประมาณการการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนจาก 3.5% เป็น 4.2% หลังพบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังโตต่อเนื่องเป็นผลจากมาตรการภาครัฐสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร แต่การบริโภคเห็นสัญญาณดีขึ้นในกลุ่มคนเมืองรายได้ 1.5-3 หมื่นบาทขึ้นไป ส่วนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดกำลังซื้อผันผวนตามราคาสินค้าเกษตร

สำหรับการปรับประมาณการจีดีพี 4.6% ดังกล่าว ประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มเป็น 4.2% การบริโภคภาครัฐปรับเพิ่มเป็น 2.5% การลงทุนภาคเอกชนคง 3.5% แต่ปรับลดการลงทุนภาครัฐเหลือ 6% ด้านการส่งออกคง 8.8% ส่วนการนำเข้าปรับประมาณการเพิ่มเป็น 16.5% อัตราเงินเฟ้อนิ่ง 1.1% ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 72 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ด้านปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อเนื่องในปีหน้า ได้แก่ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความเปราะบางของตลาดเกิดใหม่ และวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยปัจจัยที่มีน้ำหนักคือการยกระดับข้อพิพาททางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น ขณะที่ตลาดเกิดใหม่เปราะบางจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ผลกระทบแตกต่างกันไปตามเสถียรภาพ

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ รวมเป็น 4 ครั้ง ไปที่กรอบ 2.25-2.5% และคาดว่าจะปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2562 ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ย 1.5% และจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง เป็น 2% ภายในครึ่งแรกของปี 2562 ค่าเงินบาทสิ้นปีคง มุมมอง 33 บาท/ดอลลาร์