posttoday

รมว.เกษตรฯสั่งตั้งกก.ศึกษาปัญหาระบบนมโรงเรียน 30 วันต้องจบ

24 กันยายน 2561

รมว.เกษตรฯสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาระบบนมโรงเรียนให้เสร็จภายใน 30 วัน หวังป้องกันการทุจริต

รมว.เกษตรฯสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาระบบนมโรงเรียนให้เสร็จภายใน 30 วัน หวังป้องกันการทุจริต

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาระบบการจัดหาอาหารเสริม(นมโรงเรียน) ทั้งหมด โดยมีนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นประธานให้จบใน 30 วันเพื่อดูว่าสมควรจะมีการทบทวนระบบนมโรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการร้องเรียนว่า ผลผลิตนมดิบเกินกว่าความเป็นจริงที่ผลิตได้แต่ละวัน และส่งผลให้ตัวเลขการลงนามซื้อขายนมผิดไปจากข้อเท็จจริง จนเป็นช่องให้หาประโยชน์กับโครงการนี้ได้

"ได้ให้ไปดูว่าระบบการจัดหานมโรงเรียนเหมาะหรือยัง หรือควรให้ท้องถิ่นดู ซึ่งการเชิญเกษตรกรมาพบ และหลายฝ่ายมาพบ ก็บอกว่าระบบปัจจุบันดี แต่ตัวเลขนมไม่ถูก ตีโป่งกัน หรืออีกฝ่ายก็บอกว่า มีการทุจริตการเก็บตัวเลขที่ศูนย์รวบรวมนม ทำให้อ้างเอานมข้ามเขตมาหรือ บางรายทำตัวเลขเท็จเพื่อจะได้ใช้อ้างสิทธิในนมอื่น ซึ่งจากที่ดูก็พบว่านมวันละ 3,100 ตันต่อวัน วัวนมประมาณ 4-5 แสนตัว แต่ตัวเลขเอ็มโอยูมีถึง 3,400 ตัน วัวเกือบ 6แสนตัว ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าระบบมีช่องโหว่อย่างไร เพราะก่อนหน้านั้นให้มหาดไทย ท้องถิ่นดูฝ่ายเดียว ประมูลกันเอง ก็บอกว่าเละ พอมาให้คณะกรรมการนมโรงเรียนดูก็บอกว่ามีปัญหานมบูดบ้าง มีผลประโยชน์ก็ให้ไปตั้งกรรมการศึกษากันมา"รมว.เกษตรฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเชิญเกษตรกรมาร่วมหารือพบว่าได้มีการเสนอคลิปที่แอบถ่ายศูนย์รวมนมบางแห่งในจังหวัดภาคตะวันตกด้วยว่ามีการนำรถขนส่งนมวนเข้าหลายครั้ง เพื่อให้มีการจดแจ้งผลผลิตนมเกินกว่าที่ผลิตได้จริง

ด้าน นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมท่าม่วง กล่าวว่า ได้ไปถ่ายคลิปไว้ พบว่าจะมีการส่งนมในช่วงที่เจ้าหน้าที่มาจดบันทึกเพื่อให้ตัวเลขผลผลิตดูมากกว่าที่นมดิบจริง

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จะต้องหารูปแบบที่ดีที่สุดเพื่อเด็กและเพื่อแก้ไขปัญหานมดิบของเกษตรกรด้วย เพราะกระทรวงเกษตรฯต้องดูแลทั้งหมด ซึ่งในใจอยากจะเสนอให้ทำระบบประมูลแบบอีอ็อกชั่น โดยให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบตลอดต้นทางถึงปลายทางและให้มีการประกันภัยระบบนมทั้งหมด

นายสุรชาติ คณินทพงษ์ ประธานสหกกรณ์โคนมวังน้ำเย็นกล่าวว่า เรียกร้องให้คณะกรรมการนมโรงเรียนปรับโทษเอาผิดผู้ผลิตนมโรงเรียนให้เท่ากับโทษทางกฎหมายอาหารและยา ที่มีการปรับขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท พักโรงงาน 15 วันเพื่อปรับปรุง เพราะโทษของนมโรงเรียนตัดสิทธิ 25% ของโควตาที่ได้รับตลอดภาคเรียน เป็นโทษที่เกินกว่ากฎหมายอย. ทำให้เกิดขบวนการอีแร้งที่หากินกับคนอาชีพเดียวกัน กลั่นแกล้งนมยี่ห้ออื่นไปทำเสีย และตีข่าวเพื่อหวังฮุบโควต้า