posttoday

รมว.พลังงานยันเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ 25ก.ย.นี้

24 กันยายน 2561

รมว.พลังงานแถลงยืนยันเดินหน้าเปิดประมูลสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ-บงกช 25 ก.ย.นี้ ขอกลุ่มเห็นต่างอย่าออกมาประท้วง

รมว.พลังงานแถลงยืนยันเดินหน้าเปิดประมูลสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ-บงกช 25 ก.ย.นี้ ขอกลุ่มเห็นต่างอย่าออกมาประท้วง

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน แถลงว่า กระทรวงพลังงานยืนยันจะเปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติขั้นต้นเข้ายื่นประมูลข้อเสนอขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ในทะเลอ่าวไทย ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ โดยจะเปิดประมูลในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เบื้องต้นคาดว่าจะรู้ผลผู้ที่สามารถยื่นข้อเสนอดีที่สุดในปลายเดือน พ.ย. หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงเดือน ธ.ค. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากการยื่นเอกสารในวันพรุ่งนี้แล้ว กระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการวิเคราะห์ความชัดเจนสามารถนำไปสู่การสรุปเลือกผู้ที่ได้รับเลือกสำหรับแหล่งบงกช และเอราวัณ หลังจากนั้นก็จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก และใช้ขั้นตอนในการจัดทำเอกสารเพื่อลงนามในสัญญาได้ประมาณเดือนก.พ.62

"วันนี้กระทรวงได้มีการหารือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และปตท. และเห็นความจำเป็นในการสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยการที่ต้องเดินหน้าในขั้นตอนการประมูลหาผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไปโดยการรับข้อเสนอทางเทคนิคและ commercial ในวันพรุ่งนี้ ทุกสิ่งที่ดำเนินการปฏิบัติเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีก๊าซฯใช้ได้ต่อเนื่องและไม่สะดุด ในช่วงเดือนพฤศจิกา เราจะเห็นว่าข้อเสนอใดมีจุดเด่นมากกว่ากัน เราก็จะเสนอต่อกพช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวว่า แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช นับเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า 70% ของประเทศ และจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งตามแผนงานเดิมจะต้องดำเนินงานให้ได้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน 5 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นอายุสัมปทานในปี 65 ขณะนี้เหลือเวลาเพียงแค่ 3 ปี และในปี 63 จะต้องเลือกแท่นที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและทำการส่งมอบให้ผู้ประกอบการที่จะมาดำเนินการต่อ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 278 แท่นจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นอายุสัมปทาน หากล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ประกอบการที่มาดำเนินการต่อได้ทันเวลา

สำหรับการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณในครั้งนี้ คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างผลประโยชน์ให้รัฐบาลในรูปค่าภาคหลวงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไรประมาณ 8 แสนล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ในร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) นอกจากนั้นยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ กระทรวงพลังงานกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ใน TOR เพื่อการได้รับคัดเลือก โดยต้องยื่นเอกสาร 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 เป็นซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย , ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25% ซึ่งภาครัฐจะกำหนดให้หน่วยงานใดเป็นผู้เข้าร่วมนั้นจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ในช่วงเดือน ธ.ค.61 , ซองที่ 3 เป็นข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วย แผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และซองที่ 4 ซองด้านราคาก๊าซธรรมชาติ และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเกินกว่าสัดส่วน 50% ที่เป็นสัดส่วนขั้นต่ำตามกฎหมาย

"ส่วนสำคัญของการยื่นซองครั้งนื้ คือเรื่องราคาก๊าซฯเป็นส่วนสำคัญที่เราจะให้น้ำหนักแก่ผู้เสนอขายก๊าซฯเข้าสู่ระบบในไทยในส่วนของผู้ร่วมสัญญาแบ่งปันผลผลิตในราคาที่ต่ำที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงราคาไฟฟ้าในประเทศที่จะไม่สูงเกินไป"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเปิดรับข้อเสนอตั้งแต่เวลา 8.30 -16.30 น. และหลังจากนั้นจะสรุปว่ามีผู้มายื่นข้อเสนอทั้งหมดกี่ราย จากปัจจุบันที่มีผู้ลงทะเบียนเพื่อยื่นข้อเสนอสำหรับแหล่งเอราวัณ 4 ราย และแหล่งบงกช 3 ราย

รมว.พลังงานกล่าวด้วยว่า สำหรับที่มีผู้แสดงความเห็นต่างสำหรับการเปิดประมูลครั้งนี้ ขออย่าให้ออกมาประท้วงในที่สาธารณะเพราะจะสร้างความเดือดร้อน ซึ่งกระทรวงพลังงานพร้อมที่จะชี้แจงข้อสงสัยทั้งหมด ทั้งในส่วนข้อตอนการดำเนินการและจัดทำข้อเสนอ หรือเรื่องอื่นใด ทั้งในส่วนของค่าการตลาดน้ำมัน หรือ LPG แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่จะไปจัดทำดีเบตในเวทีสาธารณะ เพราะอยู่นอกขอบเขตที่จะทำหน้าที่ของข้าราชการอย่างเหมาะสมได้