posttoday

ชงแผนพัฒนา1.4แสนล้าน "บิ๊กตู่"อนุมัติโครงข่ายถนนเชื่อมเพื่อนบ้าน

19 กันยายน 2561

นายกฯกดปุ่มพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมเพื่อนบ้าน ทางหลวงชงแผน 1.4 แสนล้าน อนุมัติคืนแวตคนจน

นายกฯกดปุ่มพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมเพื่อนบ้าน ทางหลวงชงแผน 1.4 แสนล้าน อนุมัติคืนแวตคนจน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับข้อเสนอเอกชนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (จ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน 1 (จ.อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) รวม 10 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับแผนงานที่รัฐบาลวางไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ทางหลวงหมายเลข 117 ท่าอากาศยานพิษณุโลก เลยและบึงกาฬ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ได้รายงานให้ ครม.ทราบถึงการดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัดดังกล่าว โดยในปี 2562 มีการจัดสรรงบประมาณลงไป 9,983.56 ล้านบาท แยกเป็นโครงการด้านถนนของภาคเหนือตอนล่าง 1 รวม 4,889.49 ล้านบาท และอีสานตอนบน 1 รวม 5,094.07 ล้านบาท

แหล่งข่าวกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้เสนอแผนลงทุนก่อสร้างถนนใหม่วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนลงทุนด้านคมนาคมเพื่อรองรับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานตอนบนที่กระทรวงคมนาคมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์และเลย แบ่งเป็นงบลงทุนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 วงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท และงบลงทุนจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 วงเงิน 7.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 อนุมัติมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ หรือมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้ผู้มีรายได้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าถุงเงินประชารัฐที่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนำไปใช้จ่าย โดยจะต้องเป็นร้านที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันจากจำนวนร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรหรืออีดีซีแล้ว 30,647 ร้านค้า มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,886 ร้านค้า หรือ 13% ของร้านค้าที่มีเครื่องอีดีซี

สำหรับสัดส่วนการคืนภาษีแวตนั้นจะไม่ใช่การคืนทั้ง 7% แต่จะคืนแยกสัดส่วนเป็น 1-5-1 คือ 1% เป็นแวตที่ผู้ถือบัตรต้องจ่าย 5% เป็นส่วนที่จะคืนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ของผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และอีก 1% จะโอนเข้าไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในบัญชีของผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ซึ่งหากไม่มีการออมกับ กอช. ก็อาจจะมีมาตรการเชิญชวนให้เริ่มการออมกับ กอช. หรือให้ธนาคารของรัฐมาเปิดบัญชี ให้ผู้ถือบัตรรายนั้นและโอนเงินเข้าบัญชีไป

อย่างไรก็ตาม การคืนแวตให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะคืนให้ไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.  2561-เม.ย. 2562 รวมเวลา 6 เดือน ถือเป็นโครงการนำร่อง อาจมีการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม