posttoday

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนส.ค.สูงสุดรอบ8เดือน

18 กันยายน 2561

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ 49.8 สูงสุดรอบ 8 เดือน ชี้ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและบริการ

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ 49.8 สูงสุดรอบ 8 เดือน ชี้ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและบริการ

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนส.ค.2561 ว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.8 ซึ่งเป็นค่าที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนม.ค.2561 โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ค่าดัชนีภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าในแต่ละภูมิภาคเริ่มปรับตัวดีขึ้น และหลังจากที่มีโรดแมปการเลือกตั้งที่ชัดเจนก็เป็นแนวทางที่บวก ทำให้การลงทุนมีเข้ามากขึ้น จึงหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะจะสดใสขึ้น โดยคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น”นายกลินท์ กล่าว

สำหรับดัชนีภาคบริการประจำเดือนส.ค.2561 อยู่ที่ 52.6 สูงสุดในรอบ 8 เดือนเช่นเดียวกัน และค่าดัชนีโดยรวมของภาคบริการในทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีเกินระดับ 50 หมด สะท้อนให้เห็นว่า ภาคบริการของไทยในทุกภูมิภาคยังสามารถแข่งขันได้ โดยธุรกิจภาคบริการที่มีความโดดเด่นคือ สถาบันการเงิน สุขภาพ ขนส่ง โรงแรมและภัตตาคาร ส่วนตัวที่ไม่เด่นได้แก่ การบริการส่วนบุคคล (แม่บ้าน) ธุรกิจนำเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่นิยมเที่ยวเองมากขึ้น และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นายกลินท์ กล่าวว่า ในอนาคตภาคบริการจะมีความสำคัญมาก เมื่อเร่งเข้าสู่ยุค 4.0 การผลิตก็จะเป็นโอโตเมติกมากขึ้น ทำให้แรงงานที่เหลือต้องปรับตัวสู่ภาคบริการ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนภาคบริการต่อจีดีพีในสัดส่วนที่สูงขึ้น จึงทำให้หอการค้าไทยสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายด้านการบริการที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจภาคการค้าและการบริการให้สะดวกขึ้น โดยให้หอการค้าจังหวัดในแต่ละภูมิภาครวบรวมข้อมูลมายใน 2 สัปดาห์ ก่อนจะรวบรวมส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดนี้ในการพิจารณาเร่งแก้ไข เพื่อเป็นการปักหมุดให้รัฐบาลเห็นว่า เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนเดือดร้อน

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ยังมีกฎหมายบางตัวที่ไม่เอื้อต่อการจ้างงานแรงงานสูงอายุ จึงต้องมีการปรับแก้ไว้เพื่อเตรียมรองรับ รวมทั้งเรื่องใบตม.6 ที่ระบุว่าต้องให้แรงงานต่างด้าวมารายงานตัวทุก 90 วัน ว่าระบบของภาครัฐมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรองรับการยื่นผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงเรื่องพ.ร.บ.ต่างด้าวที่ยังมีหลายรายการที่ไม่เหมาะสม โดยจะต้องยึดหลักประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนหน้าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลมีการปลดล็อกทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งหากมีความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลก็จะเป็นสัญญาณที่ดีในการลงทุน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การดีขึ้นของเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเกินความกังวลไปแล้ว แต่ยังเห็นการกระจายไม่ทั่วถึง เพราะแต่ละพื้นที่ยังมีปัจจัยที่ต่างกัน โดยภาคภาคตะวันออกและภาคกลางจะเป็นตัวนำ ซึ่งงภาคบริการ การค้า การลงทุน และการค้าชายแดนล้วนเป็นบวกในทุกภูมิภาค