posttoday

ปลดล็อกกฎหมายลิขสิทธิ์ เปิดทางเจ้าของยื่นถอดเนื้อหาจากเว็บละเมิดได้ทันที

17 กันยายน 2561

พาณิชย์เดินหน้าแก้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หวังให้เจ้าของสิทธิยื่นโนติส ISP ถอดงานละเมิดออกจากเว็บได้ทันที

พาณิชย์เดินหน้าแก้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หวังให้เจ้าของสิทธิยื่นโนติส ISP ถอดงานละเมิดออกจากเว็บได้ทันที

น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่) พ.ศ. ... และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเสร็จสิ้น ล่าสุดได้เสนอให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้

สำหรับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อทำให้การปกป้องคุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ ความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) การปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT)

สำหรับ Notice and Takedown ได้แก้ไขให้หากเจ้าของสิทธิ พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเองบนอินเทอร์เน็ตในประเทศ เช่น มีการโหลดเพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ มาโพสต์บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยัง ISP เพื่อให้ถอดเนื้อหาที่ละเมิดออกจากเว็บไซต์ได้ทันที จากเดิมที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบัน เจ้าของสิทธิต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ISP ถอดเนื้อหาการละเมิดออก ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานานจนอาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายทางธุรกิจ ส่วนหากละเมิดบนเว็บไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ก็ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์นั้น

อย่างไรก็ตาม หากคนที่เอางานขึ้นเว็บยืนยันว่าตนเองก็เป็นเจ้าของสิทธิเหมือนกันก็สามารถโต้แย้งกลับไปยัง ISP เพื่อให้ ISP เอางานชิ้นนั้นกลับขึ้นมาบนเว็บไซต์ได้ โดย ISP ก็ต้องแจ้งไปที่คนที่ยื่นโนติส จากนั้นก็ต้องพิสูจน์กันในศาล หากคนยื่นโนติสไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของตัวจริง ISP ก็จะเอางานที่ถูกกล่าวหาละเมิดกลับขึ้นมาอยู่บนเว็บไซต์เช่นเดิม

สำหรับประเด็นการปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีนั้น กำหนดว่า บุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮ็กบนอินเทอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อกรหัสเข้าอินเทอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี จากกฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิตและผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้