posttoday

คนไทย5ล้านเสี่ยงตกงาน

14 กันยายน 2561

เอไอเสี่ยงแย่งงานแรงงานไทยเกือบ 5 ล้านคนในปี 2028 ภาคการเกษตรเสี่ยงเจอวิกฤตหนักสุด

เอไอเสี่ยงแย่งงานแรงงานไทยเกือบ 5 ล้านคนในปี 2028 ภาคการเกษตรเสี่ยงเจอวิกฤตหนักสุด

สถาบันวิจัย ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และซิสโก บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ เปิดเผยรายงาน "เทคโนโลยีและอนาคตงานในอาเซียน" ณ ที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในเมืองฮานอย ของเวียดนาม พบว่า แรงงานไทย 11.9% หรือ 4.9 ล้านคน เสี่ยงตกงานหรือต้องย้ายงานภายในปี 2028 จากการที่ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ในทำงานแทนแรงงานมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ในภาพรวมแล้ว เอไอคาดว่าจะส่งผลให้ตำแหน่งงานในไทยหายไป 1.3 ล้านอัตรา ซึ่งภาคการเกษตรเสี่ยงได้รับผล กระทบมากที่สุด โดยแรงงานกว่า 1.7 ล้านคนอาจต้องเปลี่ยนไปทำงานในภาคส่วนอื่นๆ ตามด้วยภาคการผลิตและภาคธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เนื่องจากงานส่วนใหญ่ในภาคส่วนดังกล่าวเป็นงานแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่งเอไอสามารถเข้ามาทำงานแทนได้

อย่างไรก็ดี สำหรับภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งนั้น คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มมากที่สุดอยู่ที่ 1.2 ล้านอัตรา และ 9.1 แสนอัตรา ตามลำดับ โดยรายงานระบุว่า การนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับการทำธุรกิจและนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ช่วยให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 5.5 แสนอัตรา คิดเป็น 17.4% ของแรงงานทั้งหมด โดยภาคธุรกิจ ดังกล่าวได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวแข็งแกร่ง

สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมของ 6 ประเทศอาเซียน รายงานระบุว่า แรงงานอาเซียน 28 ล้านคน คิดเป็น 10.2% ของตลาดแรงงานทั้งหมด อาจต้องเปลี่ยนงานใหม่ภายในปี 2028 โดยเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว สิงคโปร์ได้รับผลกระทบมากที่สุด 20.6% ตามด้วยเวียดนามและไทยที่ 13.8% และ 11.9% ขณะที่เมื่อเทียบเป็นจำนวนคนแล้ว แรงงานอินโดนีเซียเสี่ยงตกงานมากที่สุดที่ 9.5 ล้านคน ตามด้วยเวียดนามและไทยจำนวน 7.5 ล้านคน และ 4.9 ล้านคน

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า แรงงานราว 6.6 ล้านคนในอาเซียนมีแนวโน้มกลายเป็นแรงงานส่วนเกิน เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาทำงานแทนที่กลุ่มคน ดังกล่าว ขณะที่แรงงานกลุ่มนี้มีแนวโน้ม หางานยากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนทักษะจำเป็นในอนาคต โดย 41% ไม่มีทักษะด้านเทคโนโลยี 30% ขาดแคลนทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ เช่น การเจรจาและการบริการ ขณะที่กว่า 25% ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการอ่าน การเขียน หรือการเรียนรู้

ทั้งนี้ นายจัสติน วู้ด สมาชิกบริหารของที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม กล่าวว่า อาเซียนต้องเร่งพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายใน 10 ปีอาจไม่สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้

ขณะเดียวกัน ตัวแทนภาครัฐ ของประเทศอาเซียนและกลุ่มนักธุรกิจ เปิดเผยในที่ประชุมว่ายังมีมุมมองบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้า รวมถึงทิศทางการใช้นโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลก เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลอาเซียนใช้นโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง รวมถึงลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนางจูดี้ หู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคอาเซียน และเอเชียใต้ ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า อาเซียนมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งสามารถรับมือความผันผวนระยะสั้นได้ พร้อมเสริมว่า อาเซียนยังคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการที่บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนและกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวยังอยู่ในทิศทางบวกในระยะกลางและระยะยาว