posttoday

ปรับประมาณการณ์จีดีพีไทยเพิ่มเป็นโต4.6%

13 กันยายน 2561

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ อยู่ที่ 4.6% จากต้นปีประเมินไว้ที่ 4.4% ชี้สงครามการค้า-เรือล่มกระทบท่องเที่ยว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ อยู่ที่ 4.6% จากต้นปีประเมินไว้ที่ 4.4% ชี้สงครามการค้า-เรือล่มกระทบท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 ใหม่ มาอยู่ที่ 4.6% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ 4.4% โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังโตต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือยังมีอยู่ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มยืดเยื้อ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับค่าเงินบาท วิกฤตการเงินในลาตินอเมริกาที่อาจลามกระทบทางอ้อม และการพบสัญญาณการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง

"เดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะจะเติบโตสูงและร้อนแรง ทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ในกรอบ 4.7-4.8% ทำให้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ใหม่เป็น 4.6% จากเดิมต้นปีที่ประเมินไว้ 4.4%" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่้ยงในเรื่องของอุบัติเหตุเรือล่มที่จ.ภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง และรายได้หายไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และสงครามการค้าที่ทำให้การส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ส่งผลให้รายได้หายไป 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 ปัจจัยนี้เข้าไปก็ทำให้รายได้หายไปประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของจีดีพี จึงทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับประมาณการณ์ไว้ที่ 4.6% โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวและกระจายตัวดีขึ้นแล้ว โดยจะเห็นชัดเจนในไตรมาส4ของปีนี้

ขณะเดียวกัน มองว่า ปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐเอมริกากับจีนน่าจะเริ่มส่งผลต่อการส่งออกไทยชัดขึ้นในปีหน้า เนื่องจากจะมีการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ย. นอกจากนี้สถานการณ์ BREXIT ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีหน้า เนื่องจากจะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือนมี.ค.2562 ว่าจะออกมาอย่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดการช็อคได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับประมาณตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2561 ไว้ที่ 8.7% จากเดิมต้นปีที่คาดว่าจะเติบโตที่ 9.9% อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.2% อัตราการว่างงานที่ 1.1% การลงทุนภาครัฐ 8.4% จากเดิม 10% อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวในกรอบ 31.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ระดับ 38.6-39 ล้านคน

สำหรับกิจกรรมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะปลดล็อกมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นรู้แค่ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนก.พ.2562 และอนุญาตให้สามารถมีการหาเสียงล่วงหน้ากันได้ 60 วันก่อนเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินในกิจกรรมหาเสียงประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2-0.3% ของจีดีพี

"เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งขันที่เข้มข้นพอสมควร แต่ในด้านกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังประเมินไม่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ตอนนี้ว่าที่ผู้สมัครต่างก็น่าจะเริ่มลงพื้นที่กันบ้างแล้ว เพียงแต่กิจกรรมหาเสียงยังไม่มีชัดเจน และหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะมีเม็ดเงินเติมเข้าไปอีก เมื่อโรดแมปการเลือกตั้งเกิดขึ้นชัดเจน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะตามมา เพียงแต่ต้องคอยดูต่อว่านโยบายต่างๆจะยังเดินต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หากกรอบนโยบายรัฐไม่เปลี่ยนไปมาก บรรยากาศต่างๆ จะเริ่มดีขึ้นและเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยคึกคัดโดดเด่นขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562" นายธนวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังได้ประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) ไว้าว่า จากปัจจัยหนุนเรื่องอีอีซี การลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส2 และรถไฟรางคู่-รถไฟชานเมือง โดยภาครัฐเร่งรัดการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าก็น่าจะมีโอกาสผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 โตได้ 4.7-4.8% และอาจเร่งให้โตถึง 5% ได้ในปี 2563 ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีนี้จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 4.7%