posttoday

เกษตรเตรียมชงครม.แก้หนี้กองทุนฟื้นฟู ชุดแรก6พันล้านบาท

11 สิงหาคม 2561

เกษตรเตรียมชงครม.แก้หนี้กองทุนฟื้นฟู ชุดแรก6พันล้านบาท

รมว.เกษตร เตรียม  ชงครม.สวมแนวธกส.ปี53แก้หนี้กองทุนฟื้นฟูลอตแรก6พันล้าน

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลจากประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามคำสั่ง คสช. ว่าเตรียมเสนอครม.เห็นชอบแนวทางแก้ไขและปรับโครงสร้างหนี้สินให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯในล็อตแรกกว่า3.6 หมื่นรายซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้ค้างชำระธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันวงเงิน ประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกองทุนฯและเป็นหนี้ในระบบ โดยแนวทางมีการลดยอดหนี้เกษตรกรลง 50% และหยุดดอกเบี้ย ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ตามแนวทางแก้ไขหนี้สินเกษตรกร ตามที่ครม.เคยมีมติไว้เมื่อปี2553 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)ปรับโครงสร้างหนี้สมาชิกกองทุนฟื้ฟู

ทั้งนี้ในส่วนเกษตกรที่เหลือ ที่ประชุมชุดเฉพาะกิจฯมีมติให้ไปร่างกำหนดระเบียบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ใหม่ จากนั้นจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนภายใน60 วัน จากตามปกติจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนทุกปี ตั้งแต่ม.ค.ถึง มิ.ย. ซึ่งในปีนี้ยังไม่ได้เปิดขึ้นทะเบียนจึงมาเปิดให้ขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป

รวมทั้งจะมีการปลดล็อกวงเงินที่กำหนดเพดานวงเงินหนี้สิน ที่ลงทะเบียนไว้กับกองทุนฯจะช่วยเหลือไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย เพื่อจะได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้สินอยู่แล้วและอาจมาเจอปัญหาภัยพิบัติ ทำให้มีหนี้เพิ่มกว่าวงเงินที่กำหนดซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นรายๆไป หลังจากที่ขึ้นทะเบียนสมาชิกกองทุนแล้วจะมาแยกประเภทหนี้ให้มีความชัดเจนทั้งหมดโดยเร็ว ขณะเดียวกันได้มีมติให้สำนักงานกองทุนฯไปร่างแนวทางการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรร่วมกับธนาคาร ธกส.และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะผลให้เกษตรกรมีโอกาสชำระหนี้ที่ผ่านมาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามสัญญาใหม่


ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีม็อบเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯเกือบ 100 คนนำโดยนางนิสา คุ้มกอง แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาภาคกลาง มาเฝ้ารอฟังมติคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้หนี้ฯโดยนายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักกองทุนฟื้นฟูฯลงมาแจ้งมติ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวขอบคุณนายกฤษฏา ที่ได้ช่วยแก้หนี้ให้ชาวนาสำเร็จ


นายสไกร กล่าวว่านายกฤษฏา ได้สั่งการด่วนให้นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงฯเร่งแก้ระเบียบกองทุนและออกประกาศขึ้นเบียนสมาชิกเริ่มต้น15 ส.ค. นี้ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ก่อนโดยไม่มีเพดานหนี้ รวมทั้งตั้งอนุกรรมการฯทำหน้าที่อุทธรณ์ ให้เกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้ถูกฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์กว่า3 พันราย จะสามารถดำเนินการแก้หนี้ได้ทั้งหมดซึ่งกองทุนเข้าไปซื้อหนี้มาบริหาร


"เรื่องเร่งด่วนให้สำนักกองทุนทุกจังหวัดเสนอตั้งกรรมการอุธรณ์รับเรื่องในพื้นที่ วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่รมว.เกษตรฯเจรจากับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ยอมรับเงื่อนไข เถียงแทนเกษตรกร ได้สำเร็จในหลายๆเรื่องทั้งให้แก้ระเบียบเพดานหนี้รายย่อย ผมดีใจแทนเกษตรกร ที่ท่านกฤษฏา ยืนหยัดทำในสิ่งรับปากไว้ และเรื่องหนี้ที่ใช้ตัวบุคคลค้ำประกัน ซึ่งในจัดการหนี้ กองทุนฯเปิดรับขึ้นทะเบียนหนี้สินเกษตรกรทั้งหมด รู้จำนวนยอดเกษตรกร เป็นหนี้เท่าไหร่ มาออกระเบียบจะแก้หนี้ประเภทไหน เป็นอำนาจกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้ "นายสไกร กล่าว

สำหรับข้อมูลหนี้เกษตรกรเมื่อเดือนมีนาคม 2561 จากการคัดกรองตรวจสอบข้อมูลจากสถาบันเจ้าหนี้และข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรจาก 77 สาขาจังหวัดทั่วประเทศจากการสำรวจข้อมูลหนี้ที่ผ่านมามีเกษตรกรมารายงานตัวจำนวน 290,657 ราย 524,720 สัญญา คิดเป็น 55.54 %  ในส่วนกรณีหนี้เร่งด่วนทั้งหมดในชั้นดำเนินคดีขึ้นไป (หนี้ล้มละลาย/ขายทอดตลาด/บังคับคดี/มีคำพิพากษาหรือชั้นฟ้องคดี) จำนวน 7,930 ราย โดยเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมารายงานตัวประมาณ17 % จำนวน 40,179 ราย74,331 สัญญาเมื่อรวมเกษตรกรที่มายืนยันตน 330,836ราย 599,051 สัญญา นอกจากนี้โอกาสให้เกษตรกรมารายงานตัวได้อีก60 วัน จากเดิมมีข้อมูลการขึ้นทะเบียนหนี้ทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ.2546 จำนวน 512,889 ราย โดยได้นำเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนและความมีอยู่จริงของเกษตรกรสมาชิกคงเหลืออยู่จำนวน 465,925 ราย 944,752 สัญญา มูลหนี้กว่า7-8 หมื่นล้านบาท