posttoday

ตีกรอบแผนเมืองอีอีซี นัดถกกบอ.3ส.ค.นี้ ขีดเส้นเสร็จภายใน1ปี

03 สิงหาคม 2561

รัฐบาลเดินหน้าจัดทำแผนเมืองอีอีซีฉบับสมบูรณ์ วางกรอบแผนการใช้พื้นที่ตามกฎหมาย หวังนักลงทุนมั่นใจ

รัฐบาลเดินหน้าจัดทำแผนเมืองอีอีซีฉบับสมบูรณ์ วางกรอบแผนการใช้พื้นที่ตามกฎหมาย หวังนักลงทุนมั่นใจ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (กบอ.) วันที่ 3 ส.ค.นี้ เตรียมพิจารณาวาระสำคัญก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย กรอบแผนการใช้งานพื้นที่อีอีซีตามกฎหมาย แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาเมือง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเพื่อการลงทุน และเขตเพื่อการวิจัย และพัฒนา ซึ่งต้องกำหนดให้เสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้นในที่ประชุมจะพิจารณา แผนดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและชัดเจน เพื่อเสนอ กพอ.พิจารณาเห็นชอบก่อนหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนเมืองอีอีซีฉบับสมบูรณ์ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศกำลังติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพราะต้องพิจารณาศักยภาพความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย

สำหรับการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยหลังจากเปิดทีโออาร์แล้วจะเปิดประมูล ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) ภายในปีนี้ นอกจากนี้จะพิจารณาความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือ 2 แห่ง คือ มาบตาพุด เฟส 3 และแหลมฉบัง เฟส 3 มั่นใจว่าไตรมาส 1/2562 จะเปิดประมูลรูปแบบพีพีพีได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจะพิจารณาความคืบหน้าศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ที่บริษัท การบินไทย กำลังจัดเตรียมรายละเอียดร่วมทุนกับบริษัท แอร์บัส ของประเทศฝรั่งเศสในรูปแบบพีพีพีเช่นกัน และในการประชุม กบอ. ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะรายงานยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้ทราบถึงรายละเอียดของโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

นายอุตตม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้เชิญนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มาหารือถึงแนวทางการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรรมเพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยจะ จัดตั้งในพื้นที่อีอีซีบริเวณเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งกระทรวงดีอีเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบจะมีงบประมาณในการพัฒนา คาดว่าจะจัดทำแผนความร่วมมือดำเนินการระหว่างสองกระทรวงแล้วเสร็จเพื่อเสนอให้ที่ประชุม กพอ.พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะสามารถเปิดตัวศูนย์ได้ภายในเดือน พ.ย. 2561

"ศูนย์นวัตกรรมเพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพจะมีญี่ปุ่นและฮ่องกงเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือสตาร์ทอัพของไทย เช่น ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางให้สตาร์ทอัพของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย ขณะที่ฮ่องกงมีไซเบอร์ พอร์ต ลักษณะกองทุนที่มีระบบบริหารจัดการดูแลสตาร์ทอัพ เข้ามาพัฒนาสตาร์ทอัพไทยด้วย" นายอุตตม  กล่าว