posttoday

พาณิชย์ขอSMEคลายกังวล ยันมาตรฐาน"TFRS 9"ไม่ทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้น้อยลง

19 กรกฎาคม 2561

“พาณิชย์”ยันการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 ไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้น้อยลง ขอให้ SMEs คลายกังวล

“พาณิชย์”ยันการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 ไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้น้อยลง ขอให้ SMEs คลายกังวล

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยถึงกรณีการมีข้อกังวลเกี่ยวกับการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน-กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS 9) ว่า ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำ TFRS 9 มาใช้ พบว่าไม่มีผลทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ยากขึ้น จากการที่มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพราะสถาบันการเงินได้มีการทยอยกันสำรองมาอย่างต่อเนื่องและมีการเตรียมความพร้อมการใช้หลักการของการกันสำรองตาม TFRS 9 ตั้งแต่ปี 2559 แล้ว โดยการปล่อยกู้จะเป็นไปตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร ที่พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก จึงขอให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) คลายกังวลได้

ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งดูแลผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคาร SME ธนาคารออมสิน เป็นต้น ยังไม่ต้องใช้มาตรฐาน TFRS 9 พร้อมกับธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารรัฐตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบอย่างรอบด้านจากการบังคับใช้มาตรฐาน TFRS 9 กกบ. จึงได้มีมติเลื่อนการบังคับใช้ TFRS 9 ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.2563 แต่ถ้ากิจการใดมีความพร้อมตามกำหนดเวลาเดิมสามารถนำมาใช้ก่อนได้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2562 ตามกำหนดเดิม

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ในด้านการเตรียมความพร้อม การสร้างองค์ความรู้ และแนวทางการลดผลกระทบจากการนำ TFRS 9 มาใช้ กกบ. ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประกอบด้วยสภาวิชาชีพบัญชี สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะร่วมกันจัดทำคู่มือ ตัวอย่างการคำนวณเงินสำรองอย่างง่าย และจะมีการปรับปรุงหลักสูตรการอบรมให้ครอบคลุมหลักการพื้นฐาน และเน้นการทำการอบรมเชิงปฏิบัติการมากขึ้น

“จะมีการจัดทำคำอธิบายหรือการตีความมาตรฐานให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สร้างเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ในทิศทางเดียวกัน และเป็นไปตามหลักการของ TFRS 9 โดย กกบ. มอบทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปจัดทำแผนงานอย่างละเอียด และให้กลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ กกบ. เป็นระยะๆ”นางนันทวัลย์กล่าว

สำหรับ TFRS 9 เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงิน–กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน ที่สภาวิชาชีพบัญชีได้มีการยกร่างมาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมาตรฐานตาม TFRS 9 คือ หลักการบัญชีสำหรับการรับรู้รายการบัญชีและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมถึงสัญญาซื้อขายบางประเภท ซึ่งจะช่วยให้งบการเงินของกิจการสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิธีการบริหารความเสี่ยงของกิจการได้ชัดเจนขึ้น และจะใช้บังคับกับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะเท่านั้น เช่น บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลอดจนบริษัทที่กำลังจะขอจดทะเบียนออกตราสารในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัททั่วไป หรือธุรกิจ SMEs ไม่ต้องใช้มาตรฐานกลุ่มนี้ และที่ผ่านมา ได้ดำเนินการร่วมกับ ธปท. ก.ล.ต. ในการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่ต้องใช้มาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน