posttoday

ทย.จ้างที่ปรึกษา6ล.ศึกษาสร้างสนามบินมุกดาหาร

17 กรกฎาคม 2561

ผุดสนามบินภูมิภาคแห่งที่ 30 ของประเทศ ปลุกเศรษฐกิจชายแดนมุกดาหาร-SEZ สปป.ลาว รับการค้า 2 แสนล้านบาท

ผุดสนามบินภูมิภาคแห่งที่ 30 ของประเทศ ปลุกเศรษฐกิจชายแดนมุกดาหาร-SEZ สปป.ลาว รับการค้า 2 แสนล้านบาท
 
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ทย. ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร วงเงิน 6 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่ลำดับที่ 30 ของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนรวมถึงสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันนะเขต(SEZ) ในสปป.ลาวซึ่งคาดว่าจะมีตัวเลขการค้าและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในอนาคต ทั้งนี้การศึกษาจะใช้เวลา 9 เดือนคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2562
 
นายดรุณ กล่าวต่อว่าขั้นตอนการศึกษาโครงการนั้นจะเน้นไปที่ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกพื้นที่ว่าจะก่อสร้างบริเวณใดของ จ.มุกดาหาร, ความยาวรันเวย์ควรเป็นเท่าใดจึงจะเหมาะกับการใช้งานสนามบิน, ประมาณการงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้าง และความคุ้มค่าในการลงทุน เป็นต้น เมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะนำกลับมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง ก่อนจัดทำเป็นร่างรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไปเพื่อถอดแบบเพื่อกำหนดร่างเอกสารประกวดราคา(TOR)และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) อย่างไรก็ตามปัจจุบัน จ.มุกดาหาร มีท่าอากาศยานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 2 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนครพนม และท่าอากาศยานสกลนคร มีระยะห่างจากแต่ละสนามบินประมาณ 120 กิโลเมตร หากการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหารแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
 
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าตัวเลขการค้าชายแดนมุกดาหารปัจจุบันมีมูลค่าราว 1.4-1.5 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่าภายในปีหน้ามูลค่าจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทเนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญเชื่อมไทย-สปป.ลาวเพื่อไปออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม ผ่านเส้นทาง R11 อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับSEZ สะหวันนะเขต พื้นที่ราว 4 พันไร่ ปัจจุบันมีการลงทุนในพื้นที่ไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่ามูลค่าส่งออกในปีนี้จะมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนจ.มุกดาหาร ทั้งโครงการพัฒนาศูนย์บรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์และกระจายสินค้าหรือท่าเรือบก (Dry Port) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าภาคอีสาน-ท่าเรืออีอีซี โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง สนับสนุนโลจิสติกส์แบบ One Stop Service อาทิ พิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการตรวจและกักกันพืชและสัตว์เป็นต้น