posttoday

รมช.คมนาคมยันไม่ได้ยกเลิกโครงการเชื่อมทางด่วน

14 กรกฎาคม 2561

"ไพริน"ปัดพับแผนเชื่อมทางด่วนมิสซิ่งลิงก์ 6 พันล้าน ยันเอกชนพร้อมลงทุน ด้านอาคมเร่งประมูลทางยกระดับมหาชัย-ต่อขยายโทลล์เวย์ไปบางประอิน

"ไพริน"ปัดพับแผนเชื่อมทางด่วนมิสซิ่งลิงก์ 6 พันล้าน ยันเอกชนพร้อมลงทุน ด้านอาคมเร่งประมูลทางยกระดับมหาชัย-ต่อขยายโทลล์เวย์ไปบางประอิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทาง2.6กม. วงเงิน 6.2 พันล้านบาท นั้นขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากเอกชนรายเดิมทั้งสองเจ้า ได้แก่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จํากัด และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้ถึงตัวเลขการลงทุนที่ต้องแบ่งกันรับผิดชอบอาจทำให้ไม่ได้ข้อสรุปจนต้องยกเลิกแผนไป

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเปิดเผยว่ายืนยันว่าประเด็นพับโครงการดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันโครงข่ายทางด่วนได้ต่อขยายเพิ่มไปหลายทิศทาง เช่น ทางด่วนวงแหวนศรีรัช-กาญจนาที่ต่อขยายไปทางฝั่งปริมณฑล ดังนั้นการเชื่อมทางด่วนโทลเวย์และทางด่วนศรีรัช-อุดรรัถยานั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อส่งเสริมการเดินทางคาดว่าเอกชนมีความพร้อมลงทุนอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กล่าวว่ากทพ.ได้สรุปแผนการเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการมิสซิ่งลิงก์นี้จะเริ่มต้นในเดือน ส.ค.นี้วงเงินลงทุนราว 350 ล้านบาทโดยกทพ.จะเป็นผู้จ่ายเงินก่อนเพื่อเร่งให้แผนก่อสร้างเดินไปได้โดยเฉพาะเสาตอหม้อทั้ง 8 ต้นเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟสายสีแดงจะเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ตามกำหนดหากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจาก สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

อย่างไรก็ตามรายละเอียดการลงทุนประกอบด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และรื้อย้ายสาธารณูปโภค 4,230 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างจำนวน 13 แปลง วงเงิน 272 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 135 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษา107 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการ 1,472 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ทั้งนี้การเชื่อมทางด่วนดังกล่าวขณะนี้ยังยึดตามแผนเดิมเพราะโครงการดังกล่าวจะสามารถเชื่อมโครงข่ายทางด่วนให้ไปได้ทุกทิศทางทั้งฝั่งทิศเหนืออย่างบางปะอินและรังสิต ฝั่งทิศใต้ช่วงดาวคะนองและพุทธมณฑล รวมถึงฝั่งทิศตะวันออกบางนาและพัฒนาการ-สุวรรณภูมิ อีกทั้งยังเป็นนโยบายของที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้นถ้าหากจะขอยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนตัวผู้ลงทุนโครงการนั้นคงต้องเสนอที่ประขุมคจร.เพื่อขอแก้ไขรายละเอียดโครงการต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวว่าภายในปีนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งศึกษาแนวทางการร่วมทุนพีพีพีและร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) โครงการเร่งลงทุนระยะเร่งด่วนปี 2561 (Action Plan) ให้ได้ภายในปีนี้เพื่อเปิดประมูลโครงการต่อไปในปี 2562 ประกอบด้วย โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โครงการลงทุนส่วนต่อขยาย ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท และโครงการทางยกระดับหมายเลข 35 เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยกรมทางหลวงจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างก่อนในเฟส 1 ขณะที่เฟส 2 ช่วงมหาชัย-วังมะนาว วงเงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาทนั้นจะเปิดประมูลแบบร่วมทุนพีพีพีโดยให้เอกชนเข้ารับงานบริหารและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดทั้งเส้นทาง