posttoday

กยท.จับคู่ธุรกิจยางพาราเปิดโอกาสเกษตรกรขายตรงแก่ผู้ซื้อ

02 กรกฎาคม 2561

กยท.จับคู่ธุรกิจยางพารา เจรจาซื้อขายตรงระหว่างผู้ใช้ผู้ขายปีละกว่า 6.9 แสนตันกว่า 20 บริษัท

กยท.จับคู่ธุรกิจยางพารา เจรจาซื้อขายตรงระหว่างผู้ใช้ผู้ขายปีละกว่า 6.9 แสนตันกว่า 20 บริษัท

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าผลจากที่กยท. เป็นเจ้าภาพจัดงานจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ในโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ระหว่างกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กว่า 30 สถาบันฯ ทั่วประเทศ และผู้ประกอบกิจการยางพารา กว่า 20 บริษัท ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายยางระหว่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดใหม่ มีการสั่งจองยางหลายประเภท ได้แก่ น้ำยางข้น ยางเครปขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เป็นต้น รวมเป็นปริมาณกว่าเดือนละ 58,000 ตัน หรือ 696,000 ตันต่อปี

“การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ได้เพิ่มทักษะในการเจรจาธุรกิจ เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและยอดขายยางแปรรูปของไทยไปยังต่างประเทศและรวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ โดยมี กยท. ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อขายยางให้แก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มเกษตรกรผลิตยางพาราให้มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ หลายประเทศเพิ่งทราบว่าไทยสามารถแปรรูปยางประเภทต่างๆ ที่มีคุณภาพดี และมีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งจากนี้กยท.จะเร่งจัดตลาดแบบนี้ให้มากขึ้น” นายเยี่ยมกล่าว

สำหรับผลการจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อยาง กลุ่ม 1 เช่น ประเทศอิหร่าน ประเภทยางเอสทีอาร์10 มีปริมาณความต้องการ 1.2 พันตันต่อปี กลุ่ม 2 มี จีน และแม็กซิโก ประเภทยางเอสอาร์อาร์3 มีปริมาณ 5,040 ตันต่อปี เดือนละ 420 ตัน กลุ่ม 3 มีจีน อินเดีย แม็กซิโก ไต้หวัน ประเภทยางเอสทีอาร์เอสแอล 14,600 ตันต่อปี เดือนละ 1.2 พันตัน กลุ่ม 4 มี แม็กซิโก ศรีลังกา อืนเดีย ประเภทยางแอลเอแท็ก ปริมาณ 19,764 ตันต่อปี เดือนละ 1.6 พันตัน กลุ่ม5 มี จีน แม็กซิโก รัสเซีย ประเภทยางเอสทีอาร์20 ปริมาณ 175,760 ตันต่อปี เดือนละ 1.6 หมื่นตัน และกลุ่ม 6 จีน อินเดีย ประเภทยางเครปขาว ปริมาณ480,060 ตันต่อปี เดือนละกว่า 4 หมื่นตัน

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นายกฤษฏา บุญราช รมวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่นำตัวแทนประเทศและตัวแทนบริษัท ลงพื้นที่ดูสวนยางและโรงานแปรรุป ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อตอกย้ำศักยภาพการผลิตของไทย ซึ่งการจับคู่ทางธุรกิจเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพาราได้พบกับผู้ซื้อยางซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการยางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ เม็กซิโก เกาหลีใต้ ศรีลังกา อินเดีย ไต้หวัน อเมริกา อิหร่าน เป็นต้น โดยมีการสั่งซื้อยางจากกลุ่มสถาบันเกษตรกรและ กยท. คิดเป็น 57% ของจำนวนบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมการจับคู่เจรจาธุรกิจ