posttoday

"ม็อบต้านพาราควอต"ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อหน้ากระทรวงเกษตรฯ

14 มิถุนายน 2561

ม็อบต้านพาราควอต ปักหลักหน้ากระทรวงเกษตรฯ ลั่นชุมนุมจนกว่า นายกฯจะประกาศยกเลิก- ห้ามนำเข้าสารเคมีใช้ในระบบผลิตอาหาร

ม็อบต้านพาราควอต ปักหลักหน้ากระทรวงเกษตรฯ ลั่นชุมนุมจนกว่า นายกฯจะประกาศยกเลิก- ห้ามนำเข้าสารเคมีใช้ในระบบผลิตอาหาร

นายอำนาจ เกตุขาว นำกลุ่มเกษตรกร 50 คน เครือข่ายคนอินทรีย์วิถีเมืองลุงและภาคีเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต ได้มาปักหลักชุมนุมอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทำพิธีสาบแช่งหน่วยงานที่อนุญาตนำให้ใช้สารดังกล่าว โดย ระบุว่าจะยืนหยัดนั่งอยู่หน้ากระทรวงเกษตรฯจนกว่ารัฐบาลประกาศแบน 3 สารเคมีและห้ามนำเข้าประเทศไทย จึงจะเดินทางกลับ ทั้งนี้ไม่มีการยื่นหนังสือต่อรับบาลเพราะคาดว่าจะมีการตั้งกรรมการแบบเดิมๆ จึงต้องการชุมนุมเพื่อแสดงออก และพร้อมกลับหากนายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกการใช้สารดังกล่าว

ทั้งนี้ผู้ชุมนุม 3 คนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยนำเชือกมาแขวนคอไว้ตลอดเวลาเพื่อให้รัฐบาลเห็นว่า ประชาชนกำลังจะตายกันหมดประเทศจากสารเคมี ซึ่งวันนี้ได้ทำพิธีสาปแช่งผู้เกี่ยวข้องกับสารเคมี และมีพิธีบูชาเทพทั้ง3 ซึ่งนายอำนาจ เป็นผู้ทำพิธีไหว้ จอมปลวก หมายถึง พระแม่ธรณี น้ำ หมายถึงพระแม่คงคา และรวงข้าว หมายถึงพระแม่โพสพ เป็นทั้งสามเทพเป็นแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตและมวลมนุษย์ให้ดำรงชีวิต

"ปัจจุบันเราใช้สารเคมีที่ทำให้ดินเสื่อม น้ำปนเปื้อน อากาศเป็นพิษ ทำลายสิ่งเป็นรากฐานชีวิต อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคอื่นมากขึ้น จนประเทศต่างๆกว่า53ประเทศให้ยกเลิกใช้สารเคมีมากว่า10ปี เพราะปกป้องคนของเขา แต่ประเทศไทยยังคงปล่อยให้มีการใช้ไม่สามารถยกเลิกได้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังคงต่อใบอนุญาตให้กับบรรษัทนำเข้าและจำหน่ายต่อไป นั่นหมายถึงการหยิบยื่นใบอนุญาตการฆ่าสุขภาพคนไทยต่อไป จึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจรักษาชีวิตประชาชนมากกกว่าผลประโยชน์ของบรรษัท โดยเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยกเลิกทันทีสำหรับสารเคมี 3 ชนิด ไม่อนุญาตให้สารเคมีอื่นใดที่เป็นอันตรายใช้ในระบบการผลิตอาหาร รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม"นายอำนาจ กล่าว

ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตราย พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต เป็นจำนวนกว่า 44,501 ตัน 3,700 ตัน และ 59,872 ตัน ตามลำดับ จากรายงานของ กรมวิชาการเกษตร ปี 2560 เป็นตัวสะท้อนให้ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีอันตรายให้มากยิ่งขึ้น