posttoday

กรมศุลฯเผยขยะอิเล็กทรอกนิกส์ทะลักไทยเพิ่มหลังจีนประกาศห้ามนำเข้า

13 มิถุนายน 2561

กรมศุลกากรเผยไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม หลังจีนประกาศห้ามนำเข้า เผยตีกลับตู้สินค้าที่ทำผิดเงื่อนไขไปแล้ว 40 ตู้

กรมศุลกากรเผยไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม หลังจีนประกาศห้ามนำเข้า เผยตีกลับตู้สินค้าที่ทำผิดเงื่อนไขไปแล้ว 40 ตู้

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร พร้อมด้วยนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร นายบุญมา สิริธรังศรี ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายธาดา ชุมไชโย สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกันแถลงสถานการณ์และมาตรการ การนำเข้า ส่งออก ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก, สถิติการจับกุมสินค้าเกษตร (กระเทียม) และเตือนประชาชนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรในการขายสินค้า

นายชัยยุทธ กล่าววา จากข้อมูลสถิติตามใบขนที่มีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัด 3915 ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 145,764.98 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 212,051.72 ตัน ในส่วนของสถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ พิกัด 84 และ 85 พบว่า ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 64,436.71 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 52,221.46 ตัน

ทั้งนี้ จากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ. ‭2557 -2560‬ พบว่าเริ่มมีการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มปริมาณมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2561 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าและมีการจับกุมการกระทำความผิดปริมาณมากที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.) สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.) และสำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบัง (สสล.) ตามลำดับ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกรรม ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ขณะที่สถิติการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะ ทำให้ประเทศต้นทางเปลี่ยนมาส่งให้ประเทศที่มีใบอนุญาตนำเข้าแทน โดยที่ผ่านมาทางกรมศุลกากรได้เฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้า 1.เศษพลาสติก 2.เศษอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีใบอนุญาตนำเข้า รวมถึงกลุ่มประเภทที่ 3 คือ เศษโลหะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต ที่อาจจะมีการปะปนเศษพลาสติกและเศษโลหะมานั้น

ทั้งนี้ได้มีการกักตู้และผลักดันออกนอกประเทศไปดังนี้ ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบและกักตู้เศษโลหะที่มีการสำแดงเป็น ทองเหลือง อลูมิเนียม ฯลฯ ไว้ ซึ่งเศษเหล่านี้ไม่ต้องมีใบอนุญาต ได้เปิดตู้ตรวจไปแล้ว 11 ตู้ จาก 33 ตู้ พบว่ามีการผสมปะปนเศษอิเล็กทรอนิกส์มาบางส่วน และมีกลิ่น จึงได้ประสานกรมโรงงานให้ตรวจสอบว่าต้องใบอนุญาตหรือไม่

นอกจากนี้ตรวจพบ 2 โรงงาน ทำผิดเงื่อนไข เศษพลาสติก ซึ่งทั้ง 2 โรงงานมีใบอนุญาตินำเข้าถูกต้อง แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ซื้อแหล่งกำเนิดไม่ตรง จึงเตรียมผลักดันตู้กลับประเทศต้นทาง ส่วนสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้กำหนดปล่อย 21 ตู้ ส่วนตู้ที่แสดงเป็นเศษพลาสติก เศษอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามาใหม่จำนวน 80-90 ตู้ ผลักดันกลับออกไปแล้ว 40 ตู้

มีการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติกมากที่สุดประมาณ 90% แต่ละเดือนมีตู้เข้ามาประมาณ 500 ตู้ ซึ่งหลังจากวันที่ 4 มิ.ย. ที่ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ยังไม่ได้มีการปล่อยตู้ออกไปที่สำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบัง อยู่ในกระบวนการตรวจสอบเศษพลาสติกจำนวน 37 ตู้

ทั้งนี้มีการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 550 ล้านบาท (6.3 หมื่นตัน) โดย 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่เดือนต.ค.60-เม.ย.61 มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 1,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนมากถึง 2.9 แสนตัว โดยชำระอากรที่อัตรา 30 % ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ ญี่ปุ่น 43% สหรัฐอเมริกา 14% ฮ่องกง 11% ออสเตรเลีย 8% จีน 6%

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กรณีดังกล่าวว่าต้องจ่ายตู้ละหนึ่งแสนบาทนั้นจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ นายชัยยุทธ กล่าวว่า จากการที่ตนอ่านข่าวเมื่อเช้านี้ในข่าวบอกไว้ ตนเข้าใจว่า กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการสืบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ซึ่งในรายละเอียดไม่ได้มีเนื้อหาพาดพิงมาถึงกรมศุลกากร คือไม่ได้พูดว่าจ่ายเงิน 1 แสนบาทให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร อย่างไรก็ตามขอเรียนว่าเรื่องนี้หรือเรื่องใดก็ตามที่มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินสินบน รับเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือรับเงินใต้โต๊ะเพื่อให้เกิดการนำเข้าของที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเราพร้อมที่จะดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้ว