posttoday

ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.สภาพัฒน์ เสนอสนช.สัปดาห์หน้า

12 มิถุนายน 2561

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ จ่อชงเข้า สนช.สัปดาห์หน้า ปรับโครงสร้างสู่องค์กรมันสมองประเทศ

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ จ่อชงเข้า สนช.สัปดาห์หน้า ปรับโครงสร้างสู่องค์กรมันสมองประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ จ.นครสวรรค์ วานนี้ (12 มิ.ย.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ผลของกฎหมายจะเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ให้รองรับภารกิจการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินบทบาทในการวางแผนนโยบายสำหรับอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมันสมองของประเทศ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ...จะใช้แทน พ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2521

ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่ จะเปลี่ยนชื่อของสำนักงานและคณะกรรมการ (บอร์ด) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ)

ปรับปรุงองค์ประกอบของบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ให้มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 24 คน ประกอบไปด้วย คณะกรรมการจำนวน 9 คน ประธานบอร์ด 1 คน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลขาธิการสภาความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้สภาพัฒน์มีอำนาจและหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปี สามารถปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตามความจำเป็นโดยไม่ต้องรอให้ครบ 5 ปี

กำหนดให้สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผล การปฏิรูปประเทศ โดยตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัด ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศได้

“ตามบทเฉพาะกาลกฎหมายใหม่ คณะกรรมการ สศช.ชุดเดิมสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ไม่เกิน 180 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้ ขณะเดียวกันกำหนดให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ใช้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2565 หรือวันสิ้นสุดแผนตามกำหนดเดิม” นายณัฐพร กล่าว