posttoday

"กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์" ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงโรงกลั่น-รัฐบาล

07 มิถุนายน 2561

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีถกปัญหาราคาน้ำมันเเละแก๊สหุงต้ม อดีตรมว.คลังชี้นโยบายการตั้งราคาขายในประเทศสูงเกิน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีถกปัญหาราคาน้ำมันเเละแก๊สหุงต้ม อดีตรมว.คลังชี้นโยบายการตั้งราคาขายในประเทศสูงเกิน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

*********************

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นลงในช่วงที่ผ่านมาสร้างผลกระทบทั้งทางตรงเเละอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังลามไปถึงความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการทำความเข้าใจเรื่องราคาพลังงานมากกว่าในอดีต

ช่วงบ่ายของวันที่ 7 มิ.ย. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์คึกคักเป็นพิเศษ หลังมีการจัดเวทีสภาผู้บริโภค กรณีปัญหาราคาน้ำมันเเละแก๊สหุงต้ม โดยมีผู้ร่วมรับฟังให้ข้อมูลเเละเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก

"กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์" ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงโรงกลั่น-รัฐบาล

สู้ด้วยข้อเท็จจริง

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอร้องว่าให้ประชาชนผู้บริโภคเรียกร้องความยุติธรรมบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ในประเด็นเรื่องน้ำมันอย่าไปเปรียบเทียบราคาขายปลีกในประเทศไทยกับราคาขายปลีกของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากราคาขายปลีกสะท้อนกลไกเเละนโยบายภายในของแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่พยายามกดดันไม่ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัว ซื้อค่อนข้างยากเเละมีค่าใช้จ่ายตามมามาก รวมถึงกำหนดให้ราคาน้ำมันในประเทศมีราคาเเพง

"พยายามหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบโดยใช้อารมณ์ เเต่ต้องเข้าไปในหลักวิชาการ"

คำถามที่ทุกคนควรต้องตระหนักในมุมมองของ ธีระชัย คือ สูตรในการคิดราคาน้ำมันของไทยที่มีการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ เเละมีการบวกค่าใช้จ่ายเทียม อย่างค่าขนส่งเข้าไป ทั้งที่เป็นการกลั่นในไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่าเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่

ขณะที่กระบวนการจัดเก็บภาษีน้ำมันในระดับปัจจุบัน ที่ผ่านมาในอดีตอาจเป็นเรื่องจำเป็น เเต่หลังจากนี้อาจจะต้องทบทวนเบนเข็มไปเก็บภาษีจากกิจการอื่นๆ มากขึ้น เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่มีลักษณะเเตกต่างจากสินค้าประเภทอื่น สร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่บริษัทพลังงานมีกำไรมาก คนที่แย่กลายเป็นประชาชน เนื่องจากกำไรนั้นมาจากการขาดทุนของอีกฝ่าย ฉะนั้นในแง่นโยบายจึงต้องตั้งคำถามว่าถึงเวลาทบทวนเเละเปลี่ยนแปลงหรือไม่

"นโยบายในการตั้งราคาขายในประเทศ ความเห็นของผมนั้นสูงเกินไป เเละเปิดโอกาสให้โรงกลั่นเอากำไรจากการขายคนไทย เเละนำไปอุดหนุนในการตัดราคาส่งออกแข่งกับสิงคโปร์ ซึ่งเกิดคำถามว่าเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่"

เมื่อพูดถึงเรื่องราคาน้ำมัน ปัจจุบันผู้คนมักจะกล่าวโจมตีปตท.บริษัทมหาชนที่สร้างกำไรระดับเเสนล้านต่อปีโดยมีการรณรงค์ว่าอย่าไปอุดหนุน และถึงขั้นทวงคืนกลับมาเป็นของรัฐ

อย่างไรก็ตามอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่า เป็นการเรียกร้องที่ผิดทางเนื่องจากเป็นไปได้ยากในเชิงกรรมสิทธิ์ เนื่องจากบริษัทนั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหากจะนำกลับมาเป็นของรัฐ สิ่งที่ต้องเรียกร้องหรือตั้งคำถาม ควรเป็นการดำเนินงานของ ปตท. เเละธุรกิจโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศไทยมากกว่า

"คำถามคือกำไรที่เกิดขึ้น มันเป็นกำไรที่เกิดจากการดำเนินการโดยสุจริต เป็นความสามารถของตัวเอง หรือมันเกิดจากที่ใช้จากการใช้สิทธิพิเศษที่ส่วนใหญ่มาจากอำนาจของรัฐ หรือมีการใช้ทรัพยากรหรือใช้สาธารณะสมบัติ ซึ่งจริงๆ เเล้วเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน เข้าไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทหรือไม่

เเทนที่เราจะไปเน้นทวงคืนเพื่อให้บริษัทกลับมาเป็นของประชาชน เราเพียงเเต่ดึงเอาอำนาจพิเศษ สิทธิที่เกิดจากอำนาจประชาชนของรัฐออกจากบริษัท หลังจากนั้นเราจึงเอาสิทธิตั้งหมดไปตั้งบรรษัทพลังงานเเห่งชาติชาติขึ้นมาใหม่ การทำลักษณะนี้จะทำให้กระบวนการบริหารจัดการพลังงานของไทย สามารถสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน"

"กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์" ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงโรงกลั่น-รัฐบาล

ราคาอ้างอิงมีปัญหา

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ บอกว่า ปัจจุบันเรามีโรงกลั่นที่มีคุณภาพเเละประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกลั่นเพื่อคนไทยเเละส่งออก สิ่งที่เป็นปัญหาคือ แม้จะมีการกลั่นน้ำมันในไทย เเต่ดันไปอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ทั้งที่ควรจะถูกกว่าเพราะเรานำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเองในเมืองไทย

"อุปมาว่าเหมือนเราซื้อกับข้าวมาทำเองที่บ้าน เราไม่ได้เลี้ยงหมูเห็ดเป็ดไก่ปลูกผักกินเอง เเต่ถ้าเราซื้อวัตถุดิบเหล่านี้มาทำที่บ้าน ยังไงก็ตามทำที่บ้าน ต้องถูกกว่าเราไปกินที่ร้าน ปัญหาคือความไม่ธรรม เรากลั่นน้ำมันในประเทศ เเต่ไปอิงราคาอาหารของภัตตาคารที่สิงคโปร์เเล้วก็บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าอื่นๆ ก่อนมาถึงบ้านเรา เพราะฉะนั้นราคาก็เลยแพง"

รสนา หยิบยกข้อมูลที่ชี้ว่า ประเทศไทยสามารถกลั่นเเละส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของประเทศ พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องใช้คนไทยได้ใช้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศในราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งเป็นราคาเสมือนว่าเรานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์

เธอย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อสมัยก่อตั้งโรงกลั่นในประเทศครั้งเเรกเมื่อปี พ.ศ. 2502-2503 คือโรงกลั่นบางจาก รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่าการกลั่นเองในประเทศจะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปมีราคาถูกว่า จึงชักชวนให้บรรดากลุ่มทุนมาตั้งโรงกลั่นในไทย โดยให้แรงจูงใจว่า กลั่นในไทยเเต่ขายในราคาเหมือนกับนำเข้าจากสิงคโปร์

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นการสร้างแรงจูงใจในระยะเเรก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นกิจการ เเต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 20 ปี ประเทศสามารถส่งออกไปขายน้ำมันต่างแดนได้จำนวนมากเเล้ว ควรมีการปรับปรุงนโยบายและวิธีดำเนินงาน

"เมื่อสมัยนั้น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นรองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานเเห่งชาติ เริ่มเห็นเเล้วว่า โรงกลั่นส่งน้ำมันออกไปขายต่างประเทศได้ในระดับหลายพันบาเรล เลยมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศในอดีต เจรจากับโรงกลั่นว่า ขอให้คิดราคาขายกับคนไทยในราคาส่งออก ไม่ให้คิดราคานำเข้าแบบเดิม ปรากฎว่า ไม่ได้เจรจาจนกระทั่งปัจจุบันที่เราส่งออกน้ำมันมูลค่าปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และมีการอ้างว่าราคาส่งออกต่ำกว่าในประเทศ เพราะต้องแข่งขันกับสิงคโปร์"

รสนาบอกว่า น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญหรือต้นทุนทางตรงของการผลิตทั้งหมด เเละกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงานเเห่งชาติขึ้นมาทดแทนปตท.

"เราไม่ต้องการทวงคืน เเต่รัฐบาลควรตั้งใหม่บรรษัทน้ำมันขึ้นมา เหมือนกับที่เรามีองค์กรเภสัชกรรมที่สามารถผลิตยาสำหรับคนไทยได้ในราคาถูก วันนี้เอกชนเขาต้องหากำไรให้มากที่สุดอยู่เเล้ว ปัญหาคือนโยบายของรัฐปล่อยให้มีการหากำไรตั้งเเต่ต้นทาง ฉะนั้นจึงต้องตั้งบรรษัทขึ้นใหม่ ไม่ให้เกิดการผูกขาด"

รสนา บอกว่า นโยบายของเเต่ละประเทศเรื่องพลังงาน เเสดงถึงวิสัยทัศน์เเละความเป็นอิสระของผู้นำ ผู้บริหารของบ้านเมืองว่า ตกอยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มทุนหรือไปมีผลประโยชน์เอี่ยวหรือเปล่า

"กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์" ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงโรงกลั่น-รัฐบาล

ก๊าซหุงต้มเเพงกว่าตลาดโลก

นอกเหนือจากเรื่องราคาน้ำมันเเล้ว เวทีนี้ยังมีการพูดถึงราคาก๊าซหุงต้มที่ปัจจุบันมีราคาพุ่งขึ้นมากกว่าในอดีต

มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานเเละทรัพยากร ม.รังสิต บอกว่า ปัญหาก๊าซหุงต้มเกิดขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัจจุบันราคา ณ โรงกลั่นในไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. มีราคา 17.55 บาท สูงกว่า ราคาตลาดโลก 14.52 บาท หรือประมาณ 3 บาท ทั้งที่ผลิตก๊าซจากอ่าวไทย

"รัฐบาลในอดีตเห็นว่าเราสามารถผลิตก๊าซในประเทศมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ จากเเหล่ง บงกช เอราวัณ เเละลานกระบือ จึงตั้งราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงเเยกก๊าซไว้ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ก่อนในปี 2557 จะมีการยกเลิก เเละมอบอำนาจให้กรรมการชุดหนึ่งไปบริหารซึ่งสุดท้ายมีการกำหนดให้ขายก๊าซในราคานำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย"

นอกเหนือจากปัญหาด้านการกำหนดราคาเเล้ว อีกเรื่องทีเขาบอกบนเวทีคือ การกำหนดให้บริษัทโรงแยกก๊าซคิดต้นทุนการผลิตจากค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งหมายถึงเงินเดือนผู้บริหาร โบนัสต่างๆ ก็นับเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาเป็นราคาเรียกเก็บได้

"ถ้าเขากำหนดราคาต้นทุนการผลิตสูงกว่าตลาดโลก ก็ได้เงินจากประชาชนส่วนหนึ่ง ส่วนที่ขาดก็ไปเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย โรงเเยกก๊าซเเห่งหนึ่งก่อนรัฐประหาร คิดราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากนั้นต้นทุนก็ขึ้นตลอด จนกระทั่งตอนนี้ 15 บาทเเล้ว"

มล.กรกสิวัฒน์บอกเเละสรุปว่า ราคาพลังงานในปัจจุบันเราไม่ได้อ้างอิงตลาดโลกแต่อ้างอิงราคาการนำเข้าในประเทศ ขณะที่การส่งออกนั้นคิดในราคาต่ำกว่า จนเป็นหนึ่งในสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพง เมื่อบวกรวมกับการบริหารจัดการด้านภาษีเเละกองทุนอื่นๆ โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันที่มีการชดเชยไม่เหมาะสมด้วยเเล้ว ทั้งหมดกลายเป็นปัญหาติดพันเเละภาระที่ประชาชนต้องแบกรับ

 

"กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์" ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงโรงกลั่น-รัฐบาล