posttoday

ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับ 4 เดือน พุ่ง 6.46%

07 มิถุนายน 2561

เผย ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 4 เดือนไม่รวมทองคำพุ่ง 6.46% จีไอที แนะลุยส่งออกยุโรป สหรัฐ ตะวันออกกลาง รัสเซีย บรูไน หลังกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยฟื้นจากเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดีขึ้น

เผย ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 4 เดือนไม่รวมทองคำพุ่ง 6.46% จีไอที แนะลุยส่งออกยุโรป สหรัฐ ตะวันออกกลาง รัสเซีย บรูไน หลังกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยฟื้นจากเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดีขึ้น   

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังประเทศต่างๆในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 4,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.04% แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป จะมีมูลค่า 2,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.46%

“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากแยกการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกมา เพราะะทองคำการส่งออกจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก หากราคาสูงขึ้น ก็จะมีการส่งออกมา แต่หากราคาลดลง ก็จะส่งออกน้อย” นางดวงกมล กล่าว

ทั้งนี้ สินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้น 13.46% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้น 3.69% เพชรเจียระไน เพิ่มขึ้น 10.08% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่มขึ้น 5.96% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น 4.91% และเครื่องประดับเทียม เพิ่มขึ้น 19.79% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลดลง 1.84%

สำหรับตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง เพิ่ม 0.17% สหภาพยุโรป เพิ่ม 8.75% สหรัฐ เพิ่ม 10.60% กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่ม 19.52%  อินเดีย เพิ่ม 29.67% ญี่ปุ่น เพิ่ม 2.87% จีน เพิ่ม 13.27% อาเซียน เพิ่ม 1.57% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เพิ่ม 30.48%

นางดวงกมล กล่าวว่า ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและน่าจับตา ก็คือ สหภาพยุโรป มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการที่เศรษฐกิจเติบโต ทำให้ผู้บริโภคมีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น สหรัฐ เพราะการจ้างงานสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมั่นใจ ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ตะวันออกกลาง ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ผู้บริโภคนิยมสินค้าไทย และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่ม

อินเดีย มีการนำเข้าเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนไปใช้ทำเครื่องประดับเพิ่มทั้งขายในประเทศและส่งออก ญี่ปุ่น ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จีน มีการส่งออกสูงสุดในรอบ 3 ปี จากการที่ชาวจีนเชื่อมั่นและนิยมสินค้าจากไทย ทำให้มีการซื้อเพิ่มขึ้น อาเซียน ก็เติบโตต่อเนื่อง แต่น่าจับตาตลาดบรูไน ที่การส่งออกเติบโตสูงมากถึง 27.26% ส่วนรัสเซีย เครื่องประดับเงินถือเป็นดาวเด่นที่เติบโตสูง และควรจะเร่งบุกตลาดต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะยังคงส่งออกได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า แต่ก็ต้องจับตาสงครามการค้าที่นำโดยสหรัฐ ที่นอกจากจะใช้มาตรการกับจีน ยังมีแนวโน้มใช้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่เริ่มมีความตรึงเครียด ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือและหากลยุทธ์ส่งออกใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดคู่ค้าเดิมให้ได้

“จีไอที ขอให้ผู้ส่งออกหันมาใช้นวัตกรรมในการการออกแบบสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง รวมถึงเร่งบุกตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น รัสเซียและกลุ่มประเทศในเครือรัฐเอกราช และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อีกทั้งควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้”นางดวงกมลกล่าว