posttoday

เคาะยื่นไฮสปีด18มิ.ย.

25 พฤษภาคม 2561

เปิดเอกชนศึกษาข้อมูลรถไฟความเร็วสูง ก่อนเปิดขายทีโออาร์ 18 มิ.ย. เผย 5 กลุ่มทุนสนใจ

เปิดเอกชนศึกษาข้อมูลรถไฟความเร็วสูง ก่อนเปิดขายทีโออาร์ 18 มิ.ย. เผย 5 กลุ่มทุนสนใจ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือ บอร์ดอีอีซี และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าศึกษากรอบเวลาในการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-17 มิ.ย.นี้ เปิดขายซองขอบข่ายการประมูล (ทีโออาร์) วันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค.นี้ และให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.นี้ ก่อนจะเปิดให้เจรจาต่อรองและประกาศผลภายในปลายปี 2561 โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบลงทุนในโครงการดังกล่าวในส่วนของภาครัฐไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาท ใช้วิธีการประมูลแบบให้เอกชนบริหารจัดการทั้งหมด (เน็ตคอสต์) ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 15 สถานี ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง คาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี กำหนดอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง และให้เช่าพื้นที่สถานีศรีราชา 25 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 100 ไร่ เป็นระยะเวลา 50 ปี ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท เมื่อครบสัญญารัฐจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด

"สำหรับเอกชนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เบื้องต้นพบว่ามี 5 กลุ่ม มีทั้งไทย ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้" นายอุตตม กล่าว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อมฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มี 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสนามบินอู่ตะเภา แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. ช่วงที่สอง รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ  และช่วงที่สาม รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม./ชั่วโมง

ภาพประกอบข่าว