posttoday

เคาะ4แนวทางดูแลสับปะรดสกัดม็อบบุก

23 พฤษภาคม 2561

ครม.ไฟเขียวแนวทางแก้ไข ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ช่วง พ.ค.-มิ.ย. สกัดม็อบเตรียมบุกกรุงเทพฯ

ครม.ไฟเขียวแนวทางแก้ไข ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ช่วง พ.ค.-มิ.ย. สกัดม็อบเตรียมบุกกรุงเทพฯ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ เนื่องจากอีกไม่กี่วันคาดว่าอาจมีม็อบเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมาร้องเรียน ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าสินค้าเกษตรมีปัญหาเกือบทุกตัว เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เพราะปลูกและเลี้ยงกันมากเกินกว่าความต้องการของตลาด

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการสับปะรดโรงงานในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนา สับปะรดแห่งชาติที่มีนายสมคิด จาตุศรี พิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นำเสนอประกอบด้วย 

1.มาตรการนำ ส่วนเกินออกนอกระบบ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายออกนอกพื้นที่ ซึ่งส่งเสริมการบริโภคในจังหวัดที่ไม่มีการปลูก และให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประสานปศุสัตว์จังหวัดนำไปทำอาหารหมักเลี้ยงโคเนื้อและโคนม หากต้องใช้ งบประมาณให้กรมปศุสัตว์ทำโครงการเสนอขอใช้งบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

2.ผลักดันส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ทำเอ็มโอยูเพื่อขยายการส่งออกในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เป้าหมายคือรัสเซีย อิหร่าน และให้ประสานจัดหาผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าในต่างประเทศให้เป็นรูปธรรม

3.ให้กรมการค้าภายใน ส่งเสริมการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น โดยประสานกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในการหาตลาดและประสานกับผู้ว่าฯ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พิจารณานำสับปะรดไปประกอบอาหารให้กับผู้ต้องขังในช่วงเดือนดังกล่าว

4.มาตรการอื่นๆ ให้กรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาต้นทุนราคากระป๋องบรรจุสับปะรดให้สอดคล้องกับราคาแร่เหล็กที่ลดลง และให้สมาคมอุตสาหกรรมบรรจุสับปะรดกระป๋องรวบรวมประเด็นเสนอต่อกรมสรรพสามิตในการส่งออกน้ำสับปะรดเข้มข้น ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรมหาแนวทางแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิต สับปะรดในปี 2561 พบว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 5.3 แสนไร่ เพิ่มขึ้นจากปี  2560 ประมาณ 3.47%