posttoday

พณ.ชี้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนอาหารไม่ถึง1บาท เตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

22 พฤษภาคม 2561

กรมการค้าภายในชี้การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนผลิตอาหารไม่ถึง 1 บาท เตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหารจานด่วน

กรมการค้าภายในชี้การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนผลิตอาหารไม่ถึง 1 บาท เตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหารจานด่วน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นราคาขายก๊าซหุงต้ม (LPG) ขนาดถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จากถังละ 353 บาท เป็นถังละ 395 บาท หรือปรับขึ้นถังละ 42 บาท พบว่ามีผลให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพิ่มขึ้นจาน/ชามละ 15-20 สตางค์ โดยคำนวณจากก๊าซหุงต้ม 1 ถัง ปรุงอาหารได้ 200-300 จาน/ชาม เช่น ก๋วยเตี๋ยว มีต้นทุนก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นชามละ 1.88 บาท จากเดิมอยู่ที่ชามละ 1.68 บาท หรือต้นทุนก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นชามละ 20 สตางค์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนจะปรับขึ้นราคาขาย เพราะกระทบต้นทุนการผลิตอาหารน้อยมากไม่ถึง 1 บาท

"ทางกรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจไปตรวจสอบราคาอาหารจานด่วนในท้องตลาด โดยเห็นว่าการที่ผู้ค้าจะปรับขึ้นราคาขายอีกจานละ 5 บาท ไม่สมเหตุสมผล และเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป ขณะเดียวกัน จะตรวจสอบที่ร้านบรรจุและจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย หากพบร้านค้าใดขายเกินราคาที่กระทรวงพลังงานกำหนดเป็นราคาอ้างอิง จะดำเนินการตามกฎหมาย และหากประชาชนพบเห็นการขายเกินราคา แจ้งได้ที่สายด่วน โทร. 1569" อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (ซัพพลายเออร์) มาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ราคาขาย และผลกระทบที่จะได้รับหลังการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งได้ปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 5% อย่างไรก็ตาม จะขอความร่วมมือให้ซัพพลายเออร์ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าไว้ก่อน หากต้นทุนไม่ได้ปรับขึ้นมากจนรับภาระไม่ไหว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ศึกษาการปรับขึ้นค่าขนส่งรถบรรทุกอีก 5% ที่จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าว่า การปรับขึ้นดังกล่าว จะกระทบต่อราคาขายปลีกสินค้าเพียง 0.0032-0.4853% โดยสินค้าที่ได้รับกระทบน้อยสุดคือ ผ้าอนามัย และสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ปูนซีเมนต์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จะได้รับผลกระทบ 0.0178-0.2772% โดยสินค้าที่กระทบน้อยสุด คือ ปลากระป๋อง และกระทบมากสุดคือ นมถั่วเหลือง ส่วนหมวดเกษตร สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ยาปราบศัตรูพืช กระทบ 0.0848% และปุ๋ยเคมี กระทบ 0.2452%

"ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น เป็นเพียงต้นทุนค่าขนส่งบางส่วนเท่านั้น เพราะรถบรรทุกส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซเอ็นจีวี ดังนั้น กรมฯ จึงได้วิเคราะห์เฉพาะในส่วนของค่าขนส่งที่จะปรับขึ้น 5% ซึ่งกระทบต่อราคาสินค้าไม่มาก แต่ในสัปดาห์นี้จะคุยกับซัพพลายเออร์ เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน" นายบุณยฤทธิ์กล่าว