posttoday

เอกชนพร้อมรับกม.เงินดิจิทัล

17 พฤษภาคม 2561

คอยน์แอสเซท พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้แล้ว หวังประชาชนใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด ทุนไหลเข้า

คอยน์แอสเซท พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้แล้ว หวังประชาชนใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด ทุนไหลเข้า

นายศิวนัส ยามดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท คอยน์ แอสเซท ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เปิดเผยว่า พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกมาชัดเจน การมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบการเงินของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นทั้งธุรกิจสินค้าและบริการ เครื่องดื่ม อุปโภค บริโภค หรือแม้แต่หน่วยงาน สถาบันทางการเงินที่จะขับเคลื่อนหลัก เพื่อผลักดันเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่หลังจากมีการออกกฎหมายควบคุมที่ชัดเจนเกี่ยวกับ สกุลเงินดิจิทัลแล้ว ทำให้ประชาชนใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนการใช้เงินสดเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ และภาคเอกชนก็พร้อมรับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น การกำหนดนิยามให้เงินดิจิทัลและโทเคนดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยแบ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และ 4.ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล

ด้านธุรกิจทั้ง 4 ประเภท ดังนี้ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือตัวกลางในการ ซื้อขาย เปรียบเสมือนกระดานซื้อขาย 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือตัวแทน นักลงทุนในการซื้อขาย ซึ่งเปรียบเสมือนนายหน้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล คือเจ้ามือในการ ซื้อขายเอง เปรียบเสมือนร้านขายทองคำที่เป็นเจ้ามือซื้อขายเอง และ 4.ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล คือผู้ให้บริการ จัดทำการระดมทุนเงินดิจิทัล (ไอซีโอ) เปรียบเสมือนผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน

ทั้งนี้ กฎหมายได้ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งสามารถยกเลิกใบอนุญาตดังกล่าวได้ด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งยังให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการตรวจสอบและควบคุม ด้านผู้ให้บริการจัดทำไอซีโอต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามประเภทและเงื่อนไขที่ ก.ล.ต.กำหนด