posttoday

รมว.พลังงานสั่งยกเครื่องโซลาร์รูฟเสรี

14 พฤษภาคม 2561

“ศิริ” ขีดเส้นสรุปเกณฑ์โซลาร์รูฟท็อปใหม่เสร็จในปีนี้ พร้อมหนุน กฟผ.ลงทุนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 1,000 เมกะวัตต์

“ศิริ” ขีดเส้นสรุปเกณฑ์โซลาร์รูฟท็อปใหม่เสร็จในปีนี้ พร้อมหนุน กฟผ.ลงทุนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 1,000 เมกะวัตต์

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะสรุปแนวทางการดำเนินงานให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ให้ได้ภายในปีนี้ เพราะจะเป็นแกนหลักในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคต ซึ่งจะบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) เพื่อเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขัน แต่จะไม่ใช้คำว่าโซลาร์เสรี

นอกจากนี้ จะดำเนินการส่งเสริมควบคู่ไปกับการสนับสนุนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนที่ลงทุนกำลังผลิตรวม 500-1,000 เมกะวัตต์ และจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและวิจัยต่อยอดเทคโนโลยีของไทย

“จากนี้คงไม่เรียกโซลาร์รูฟท็อปว่าเสรี เพราะจะเกิดความสับสนได้ แต่จะเป็นอย่างไรนั้นขอพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะจะเป็นแกนหลักในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมที่จะรองรับได้ แต่ราคารับซื้อคงจะไม่กำหนดที่ 2.44 บาทต่อหน่วยเหมือนกับพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เพราะมีความแตกต่าง มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะครัวเรือนคิดว่าจะเปิดโครงการได้ปีนี้” นายศิริ กล่าว

สำหรับโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำ ปัจจุบัน กฟผ.มีโครงการความร่วมมือกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในระดับ 2.40-2.50 บาท/หน่วย เป็นเทคโนโลยีแรกของโลกที่ผสมผสานการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ กับน้ำในเขื่อนที่ไม่ต้องสร้างสายส่งใหม่ เพราะมีระบบต่างๆ รองรับในเขื่อนอยู่แล้ว ดังนั้นหากเอกชนรายใดมั่นใจว่าสามารถผลิตไฟฟ้าในต้นทุนที่แข่งขันได้ก็สามารถเข้าร่วมดำเนินงานกับ กฟผ.ได้ทันที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดที่จะเปิดให้ร่วมดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเตรียมส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 250-300 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรูปแบบของโครงการ

ด้านโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไฮบริด แบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียรชั่วคราวขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพีเซมิเฟิร์ม) จำนวน 269 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายในปี 2561 นั้น ได้ให้นโยบายไปว่าหากไม่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ในต้นทุนต่ำกว่า 2.44 บาท/หน่วย ก็ไม่ควรเดินหน้าโครงการต่อ