posttoday

ของบเวนคืนเร่งมอเตอร์เวย์

07 พฤษภาคม 2561

มอเตอร์เวย์สายใหม่อืด ชง ครม.ของบเพิ่มค่าเวนคืน 2 หมื่นล้าน ภายในเดือนนี้ เผยเส้นนครปฐม-ชะอำ ช้ากว่า 1 ปี

มอเตอร์เวย์สายใหม่อืด ชง ครม.ของบเพิ่มค่าเวนคืน 2 หมื่นล้าน ภายในเดือนนี้ เผยเส้นนครปฐม-ชะอำ ช้ากว่า 1 ปี

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร (กม.) วงเงินราว 6 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้มีความก้าวหน้าเพียง 8% ล่าช้ากว่าแผนที่ตั้งไว้ 16% เนื่องจากยังคงติดปัญหาเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด หลังจาก ที่แผนเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มเติมอีก 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิม 5,400 ล้านบาท เป็น 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ถูกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอพร้อมให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมและชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 2 ประเด็น 1.สาเหตุของการเพิ่มค่าเวนคืน 2.ความผิดพลาดในการคำนวณค่าเวนคืน

ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลชี้แจง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในกลางเดือน พ.ค. ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ช่วงปลายเดือนเพื่อขออนุมัติงบ ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเงินทุน 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.เปลี่ยนแปลงงบงานก่อสร้างของกรมทางหลวงนำมาเป็นค่าเวนคืนจำนวน 9,000 ล้านบาท 2.เสนอของบประมาณกลางปีราว 5,000 ล้านบาท สำหรับสาเหตุมาจากการประเมินราคาที่ดินเวนคืนตั้งแต่ปี 2551 ทว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อเวนคืนที่ดิน เพิ่งออกมาในปี 2556 และ ครม.เพิ่งมาอนุมัติโครงการเมื่อปี 2558 ส่งผลให้ต้องทำการลงพื้นที่ประเมินราคาที่ดินใหม่ ทั้งนี้กรมทางหลวงจะไปพิจารณาหาความ ผิดพลาด ซึ่งถ้าความผิดพลาดเกิดจากตัวบุคคลจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้าราชการต่อไป

"กรณีที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอให้พิจารณาแนวทางการเปลี่ยนแนวเส้นทางเพื่อลดค่าเวนคืน รวมถึงดูความจำเป็นของโครงการและ ผลเสียหากต้องยุติการดำเนินโครงการ จนบางฝ่ายมองว่าโครงการดังกล่าวจะ ซ้ำรอยกับโครงการโฮปเวลล์นั้น ขอยืนยันว่ากรมทางหลวงไปดำเนินการศึกษา มาดีแล้วและยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแนวเส้นทางและไม่ยกเลิกโครงการแน่นอน" แหล่งข่าวระบุ

ด้านความคืบหน้าโครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนปฏิบัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องขอเพิ่มงบประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเดิม 1.8 หมื่นล้านบาท เป็น 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 7,000 ล้านบาท  คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุม ครม.ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้เช่นกัน โดยโครงการนี้ล่าช้ากว่า 1 ปี

ภาพประกอบข่าว