posttoday

เกษตรดันสหกรณ์ผลไม้ ชงครม.กู้ธกส.4.5พันล้าน เสริมสภาพคล่อง แก้ราคาตกต่ำ

05 พฤษภาคม 2561

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดหาเงินทุนหนุนธุรกิจรวบรวมผลไม้สหกรณ์ คาดเอ็มโอยูอาลีบาบาเดินเครื่องเต็มที่ปี 2562

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดหาเงินทุนหนุนธุรกิจรวบรวมผลไม้สหกรณ์ คาดเอ็มโอยูอาลีบาบาเดินเครื่องเต็มที่ปี 2562

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จ.บุรีรัมย์  วันที่ 8 พ.ค. ขอสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน  4,500  ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 100 แห่ง มีทุนหมุนเวียนไปรวบรวม ผลไม้จากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวและระบายออกนอกแหล่งผลิตมีเป้าหมายรวบรวมปีละ 4 หมื่นตัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ

ด้านการผลักดันให้สหกรณ์ส่งออกผลไม้ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ภายหลังบริษัท เซี่ยงไฮ้ วิน ชิน ซัพพลาย แมนเนจเมนต์ ซึ่งเป็นตัวแทนในการจัดซื้อสินค้าของบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ของจีน ได้เดินทางมาเจรจาธุรกิจกับสหกรณ์ ใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด นั้น คาดว่าการทำธุรกิจซื้อขายผลไม้กับทาง อาลีบาบาจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มตัวในปี 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จะส่งตัวแทนเข้ามาดูสวนของเกษตรกร จุดรวบรวม และกระบวนการคัดคุณภาพทุเรียนของสหกรณ์ ใน จ.จันทบุรี ระยอง ตราด ประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้ และปริมาณผลผลิตในแต่ละปีว่าสามารถรวบรวมและส่งขายให้ได้เท่าไร หลัง จากนั้นจะทำข้อตกลงธุรกิจซื้อขายผลไม้ ร่วมกัน และคาดหวังว่าในอนาคตสหกรณ์จะมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าการ เกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ และยางพารา

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และสหกรณ์การเกษตร  8 แห่ง ผลิตข้าว กข. 43  ซึ่งเป็นข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำและกรมการข้าวได้รับรองพันธุ์เพื่อป้อนตลาดในห้างโมเดิร์นเทรด  โดยจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงรวมกันขายข้าวล็อตแรกกับห้างโมเดิร์นเทรด 4 แห่ง ได้แก่ บิ๊กซี เดอะมอลล์ เทสโก้ โลตัส  และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต  โดยภายในปี 2561 มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูก 3 แสนไร่

ด้าน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าววา ได้เชิญตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศประมาณ 100 คน จาก  50 องค์กร ประชุมรับฟังความเห็นจากแกนนำเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสวนยางทั่วประเทศ ถึงแนวทางการพัฒนายางพาราของไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรเดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างการยางฯ กับสถาบันเกษตรกร  เพื่อทำธุรกิจซื้อขาย แปรรูป และเพื่อการส่งออก โดยเป็นการร่วมทุน 3 ด้าน คือ กทย. สหกรณ์  หรือสถาบันเกษตรกร ผู้แปรรูปยางและเอกชนที่ทำธุรกิจยางพารา

ทั้งนี้ ยืนยันว่าปริมาณยางพาราในโลกไม่ล้นตลาด เพราะสต๊อกยางมี 2 ล้านตัน ถือว่าปกติไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ราคายางตก โดยทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางปีละ 13 ล้านตัน ในขณะที่ไทยผลิตได้  4  ล้านตัน/ปี  ส่งออกประมาณ  90%  เป็นการส่งออกไปจีน  2 ล้านตัน/ปี  ดังนั้นชาวสวนยางต้องจับมือกันเดินหน้าตั้งบริษัทเพื่อร่วมมือกันยกระดับการผลิตแก้ปัญหาราคาตกต่ำ  เพราะสาเหตุสำคัญคือไทยไม่สามารถกำหนดราคายางในตลาดโลกได้  เนื่องจากขายแต่วัตถุดิบและให้เอกชนไปปั่นราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า จนมากดราคารับซื้อในประเทศและไปกินส่วนต่างราคา 15-20 บาท/กิโลกรัม