posttoday

เกษตรกางแผนรับน้ำ ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ทั่วประเทศ ป้องกันอุทกภัยพื้นที่เสี่ยง

04 พฤษภาคม 2561

"บิ๊กฉัตร" สั่งพร่องน้ำเหนือ-อีสานรับพายุเข้าไทย เดือน ส.ค.ต.ค. คุมอ่างเก็บน้ำเร่งจัดทำแผนบริหารน้ำหลากรายพื้นที่

"บิ๊กฉัตร" สั่งพร่องน้ำเหนือ-อีสานรับพายุเข้าไทย เดือน ส.ค.ต.ค. คุมอ่างเก็บน้ำเร่งจัดทำแผนบริหารน้ำหลากรายพื้นที่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าได้ตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารน้ำทั้งประเทศ เพื่อบริหารน้ำหลาก เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 จะมีพายุเข้าไทย 2 ลูก

ทั้งนี้ ให้ทำแผนบูรณาการบริหารน้ำทั้งหมดให้มีความชัดเจน แยกเป็นรายพื้นที่และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะลดความเสียหายหากมีอุทกภัย โดยให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค. และชี้แจงประชาชนในต้นเดือน มิ.ย.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงปีนี้คือ น้ำท่วม โดยกรมอุตุฯ คาดว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. และเดือน ก.ย.-ต.ค.จะมีพายุรวม 2 ลูก โดยแนวพายุจะผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีน้ำมากกว่า 80% ประมาณ 22 แห่ง แต่เป็นอ่างขนาดกลางและเล็ก

สำหรับพื้นที่น่าห่วงคือ ลุ่มน้ำชี ปลายลุ่มน้ำมูลและน้ำโขง โดยให้กรมชลประทานไปปรับแผนบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีเกือบ 60 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่แนวที่คาดว่าพายุจะเข้า คือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารน้ำช่วยลดผลกระทบ

นอกจากนั้น มีมติมอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ 4 มาตรการหลักรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า คือ 1.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม 2.การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ ภาคกลาง 13 ทุ่ง สามารถรองรับน้ำได้รวม 2,050 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.)

3.การสำรวจสิ่งก่อสร้างและอุปสรรคที่กีดขวางทางน้ำและแผนรองรับให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และ 4.สำรวจและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 1 พ.ค. 2561 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5 หมื่นล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2558 ประมาณ 20-25% โดยเตรียมปรับแผนบริหารในอ่างเก็บน้ำใหม่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ซึ่งจะส่งน้ำให้เกษตรกรเพื่อทำการเกษตรไม่ได้ระบายทิ้ง จากแผนเดิมที่จะให้เกษตรกรใช้น้ำฝน แต่พบว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะ

ภาพประกอบข่าว