posttoday

กลุ่มพีมูฟจี้รัฐจัดที่ดินทำกินในพื้นที่สปก.

03 พฤษภาคม 2561

กลุ่มพีมูฟ บุกระทรวงเกษตรฯเพื่อขอให้จัดที่ดินทำกินในพื้นที่ สปก. คาดปักหลัก ถึง16 พ.ค.

กลุ่มพีมูฟ บุกระทรวงเกษตรฯเพื่อขอให้จัดที่ดินทำกินในพื้นที่ สปก. คาดปักหลัก ถึง16 พ.ค.

น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแกนนำกลุ่มพีมูฟ ได้เสนอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ส.ป.ก. ที่ยังไม่ได้จัดสรรสิทธิและทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าไม้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาหลายสิบปีเข้าไปทำกินโดนจับ รวมทั้งพื้นที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่กว่า 500ไร่ ที่ได้รับผลกระทบจากการยึดคืนตามมาตรา 44 คำสั่งที่ 36/2559 รวมกว่า 3 พันไร่ จ.สุราษฎร์ธานี และจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จ.ตาก

ทั้งนี้กลุ่มพีมูฟได้ตั้งแกนนำหารือกว่า 3 ชั่วโมง หลังได้ข้อยุติ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันโดยมีการลงรายชื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการประชุมวันนี้ไว้ด้วย

ในประเด็นที่ 1.กรณีที่ดินชุมชน บางพระเหนือ ต.บางพระ อ.ละอุ่น จ.ระนอง มีชาวบ้าน 12 ราย ประสบความเดือดร้อน เนื่องจากที่ได้รับส.ป.ก.4-10 ก่อนปี 2542 ภายหลังกรมอุทยานแห่งชาติ ได้ประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทับซ้อน ส.ป.ก. โดยเลขาธิการส.ป.ก.จะมีหนังสือ แจ้งอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้หาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ภายในวันที่ 4 พ.ค. นี้ ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติ ได้ขอผ่อนผันให้เกษตรกรเข้าทำกินที่ดินดังกล่าวไปพรางก่อน และให้หาแนวทางร่วมกันระหว่างส.ป.ก.กับกรมอุทยานฯ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบ

ประเด็นที่2 กรณีห้วยฝั่งแดง อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ที่มีมติเยียวยา ค่าเสียโอกาสและจัดหาที่ดินทดแทน ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินและปัญหาอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จะมีหนังสือถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องการเยียวยา 18,500,175 บาท เข้าครม. ให้กับเกษตรกร 9 ราย เนื้อที่ 163 ไร่ 2 งาน 23 ตรว.และให้มีการจัดหาที่ดินคืนตามจำนวนที่เสียหายภายใน 1 ปี

ประเด็นที่ 3 กรณีปางมะโอ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่เกษตรกรร่วมกับหน่วยรัฐในการปลูกป่าไม้สัก ซึ่งมีความคืบหน้าให้ดำเนินการต่อไป

ประเด็นที่ 4-5 กรณีโคกปออีกว้าง (บ้านกุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา )และโคกภูพระ จ.ยโสธร ส.ป.ก.จะทำหนังสือถึงแจ้งไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อมอบหมายเจ้าหน้าที่ ร่วมสำรวจ พื้นที่ พร้อมกับกรมที่ดิน ในวันที่ 22พ.ค.เพื่อดำเนินตามขั้นตอนของระเบียบสปก.ต่อไป

ประเด็นที่ 6-7 กรณีชุมชนก้าวใหม่ และชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฐ์ธานี โดยทางส.ป.ก.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช) เป็นหน่วยบริหารจัดการที่ดินแล้ว กระทรวงเกษตรฯมีบทบาทที่ในฐานะอนุกรรมการพัฒนาอาชีพการเกษตรภายใต้ คทช. จะประสานให้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.ช่วยลงพื้นที่ติดตามปัญหาตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 19 มี.ค.61 เพื่อศึกษารูปแบบในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นโมเดลสู่การใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมในที่ดิน พร้อมกับเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การทำประโยชน์ในแปลงที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ในระหว่างนี้ที่รอการดำเนินการดังกล่าวขอให้ชะลอการดำเนินโครงการที่จะกระทบชุมชน โดยเฉพาะการขุดสระน้ำ

ประเด็นที่ 8 กรณี ชุมชนบ้านด่านสิงขร(บ้านไร่เครา)จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นคนไทยพลัดถิ่น ส.ป.ก.จะสั่งการไปยังพื้นที่เพื่อกันพื้นที่ดังกล่าวรอการขอสัญชาติให้แล้วเสร็จ ส่วนคนที่ได้สัญชาติแล้วให้แจ้ง ส.ป.ก.จังหวัดดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ประเด็นเพิ่มเติม กรณีราษฎร 6 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ขอความอนุเคราะห์กระทรวงเกษตร จัดหาที่ดินทำกินที่เดิมหรือที่ใหม่ กรณีห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ดินเป็นแนวพิพากระหว่างกรม กรมอุทยาน กับกรมป่าไม้ชาวบ้านเดือนร้อน 298 ราย ปลูกข้าวโพดและยางพารา เดือนร้อนมา3 ปีไม่มีรายได้ โดยชาวไร่มีแผนพัฒนาอาชีพของสมาชิกในชุมชน ปรับเปลี่ยนไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ยื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการมาแล้วหลายปี แล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด รับหน้าที่ประสานงานกับกรมที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน

กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา สปก ต.ไทรทอง อ.ไชยบุรี จ.สุราษฐ์ธานี ชาวบ้าน เข้าพื้นที่ปี 2550 ซึ่งเป็นพื้นที่สวนปาล์ม ที่ยึดมาจากนายทุนตามคำพิพากษาของศาลฏีกา และ ต่อมาคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) รับที่ดินไปดำเนินการจัดให้รายละ 6 ไร่ ซึ่งกลุ่มไม่รอบ และเรียกร้องให้ให้จัดให้ครรอบครัวและ 10 ไร่ ดังนั้นเสนอให้ สปก.และคทช. ชะลอการดำเนินการที่จะกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการขุดสระน้ำ และขอให้นายวิวัฒน์ ศัลยะกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เร่งลงไปหารือกับประชาชนตามที่รับปากไว้เมื่อ 19 มี.ค. 61 เพราะจนบัดนี้ยังไม่มีการนัดแนะลงไป

ด้านนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ แกนนำชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฐ์ธานี กล่าวว่าที่ผ่านมากลุ่มสวนปาล์มไทรทองพัฒนา ได้บุกรุกพื้นที่ส.ป.ก.เนื้อที่กว่า 1.6 พันไร่และต่อมาถูกศาลฎีกาพิพากษาให้คืนพื้นที่ให้กับส.ป.ก. แต่ปรากฏว่านายทุนไม่ยอมออก ยังเก็บผลผลิตต่อ จึงทำให้เกิดข้อพพิพากกับชาวบ้านกว่า 70 ครอบครัวได้เข้าจับจองพื้นที่ตั้งแต่ปี 2557 จนถูกยิงตายไป 4 ราย ต่อมารัฐบาลนี้ใช้มาตรา 44 ยึดคืนให้คทช. ไปจัดพื้นที่ให้รายละ5-6ไร่ แต่ยิ่งทำให้เพิ่มปัญหาซ้ำซ้อนเกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพราะคทช.จะจัดเกษตรกรรายใหม่ลงไปในพื้นที่ตามที่จังหวัด กำหนด ดังนั้นทางกลุ่มขอให้ชะลอการจัดที่ดินตามแนวทางคทช.รายละ6ไร่ออกไปก่อน ให้รมช.วิวัฒน์ รีบลงไปดูพื้นที่จริงตามที่เคยรับปากกับแกนนำไว้เมื่อ19มี.ค.61 จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีการนัดลงพื้นที่เลย

ด้านนายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ แกนนำกลุ่มพีมูฟ กล่าวว่าพรุ่งนี้จะเดินทางไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหารือกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน อาจนอนค้างที่กระทรวงทรัพย์ฯหรือ ทำเนียบรัฐบาล เพราะตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะนอนกทม.จนถึงวันที่16 พ.ค.รอการประชุมครม.เพราะครั้งนี้มีการประชุมครม.สัญจร ที่ต้องมาปักหลักเพราะเป็นปัญหาปากท้องเกษตรกรไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด